ช่วงหลังมานี้กระแสของคำว่า Ultralight มาแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเข้าใจว่านักเดินทางทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่าก็น่าจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างนะครับ ในความเข้าใจของคนทั่วไปๆ ที่ได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรกๆ ผมเชื่อว่าแทบทุกคน ต้องเข้าใจว่ามันหมายถึง การเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบา และทำให้นักเดินทางที่ซื้อหามาไว้ใช้ สามารถลดน้ำหนักที่ต้องแบกลงได้ เมื่อน้ำหนักที่ต้องแบกลดลง ก็จะช่วยลดภาระที่เกิดกับร่างกายในการเดินทาง และเมื่อภาระลดลง ก็น่าจะทำให้นักเดินทางไปได้ไกลขึ้น ไปได้เร็วขึ้น มีเวลาเหลือมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่างๆระหว่างการเดินทาง … ซึ่ง… มันก็ถูกครับ … แต่มันเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวของคำว่า Ultralight … ยังไม่ใช่ทั้งหมด
จริงๆแล้ว คำนี้มักจะเป็นคำที่ใช้กันในหมู๋นักเดินทางที่เดินทางระยะไกลกันเสียมากกว่า เพราะสำหรับนักเดินทางที่เดินทางระยะไกลมากๆ แล้ว (ไกลในที่นี้ของผมคือเดินกัน เป็นเดือนๆ เป็นพันกิโลเมตรนะครับ) การลดน้ำหนักให้เบาลงได้แม้จะไม่กี่สิบหรือร้อยกรัม ก็อาจจะส่งผลอย่างมากต่อการเดินทางที่ยาวนานได้ เพราะฉะนั้น การพยายามแสวงหาวิธีการหรืออุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบา เพื่อลดน้ำหนักสัมภาระลง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับนักเดินทางกลุ่มนี้
สำหรับบ้านเรา คนที่เดินทางไกลขนาดนั้นยังมีไม่มากนัก แต่เราก็มักจะได้ยินคำว่า Ultralight จากคำโฆษณาอุปกรณ์ตามร้านอุปกรณ์เดินป่า แค้มปิ้ง เสียมากกว่า บางทีก็อยู่ในชื่อรุ่นหรือซีรีย์ของสินค้าที่ต้องการจะสื่อให้ผู้ซื้อรู้ว่า มันน้ำหนักเบามากๆ พอได้ลองยก ลองถือดูแล้ว เราก็จะรู้สึกว่ามันเบากว่าของเดิมที่ใช้อยู่ จนเกิดกิเลสอยากจะซื้อหามาใช้เหมือนกัน แต่ผมอยากแนะนำว่า ก่อนที่จะซื้อมาใช้ ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเดินทางแบบ ultralight ที่จริงแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ครับ
เชื่อได้ว่าถ้าถามนักเดินทางซัก 100 คน ว่า Ultralight หมายถึงอะไร ก็คงจะได้คำตอบที่ใกล้เคียงกัน คือ อะไรก็ตามที่เน้นความเบา และถ้าผมถามต่อว่า แล้วเบาแค่ไหน ถึงจะเรียกว่า Ultralight ละ … เชื่อว่าคงจะมีไม่กี่คนที่ตอบได้ จริงๆแล้ว คำว่า Ultralight มีนิยามที่ชัดเจนอยู่ครับ
Ultralight Backpacking คือ การวัดน้ำหนักฐาน (Based Weight) ของเป้แบ็คแพ็คที่บรรทุกสัมภาระทุกอย่างที่คุณต้องติดตัวไปด้วยตั้งแต่วันแรกที่คุณเริ่มออกเดินทาง โดยน้ำหนักนี้จะไม่นับรวมน้ำหนักของพวกของใช้สิ้นเปลือง (Consumables) เช่น อาหาร เชื้อเพลิง กระดาษทิชชู่ ครีมกันแดด และอื่นๆ รวมถึงไม่นับน้ำหนักของเสื้อผ้าและสิ่งที่คุณสวมใส่ขณะเดิน เมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำหนักฐานนี้น้อยกว่า 10 ปอนด์ หรือ 4.5 Kg นั่นแหละครับ … เราจะเรียกว่า Ultralight
ได้อ่านความหมายไปแล้ว … ท่านผู้อ่านคิดว่าทำง่ายไหมครับ ? ใครเคยชั่งน้ำหนักกระเป๋าตอนเดินทางไว้บ้าง … จำได้ไหมครับว่าหนักกี่กิโล เหมือนง่ายเพราะแค่แบกของให้น้อยลง เราก็สามารถไปถึง Ultralight ได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องใช้ความพยายามพอสมควรถึงจะทำได้ คิดง่ายๆ น้ำหนักของเป้ขนาด 60 ลิตรเฉลี่ยใบนึงที่ขายกันอยู่ที่ราว 1.7-2 kg น้ำหนักสำหรับเต็นท์แบบคนเดียวก็ราว 1.5-2 Kg ถุงนอนก็ราว 0.8-1.1 Kg ขึ้นกับว่าไปอากาศเย็นแค่ไหน แค่นี้รวมๆกันก็เกิน 4.5 Kg แล้วครับ นี่ยังไม่นับภาชนะ เครื่องครัว หม้อ จานชาม หัวเตาสำหรับทำอาหาร เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน และอื่นๆ อีกมากมาาย … ข้อสังเกตุอย่างนึงคือ น้ำหนักนี้จะเป็นน้ำหนักที่คงที่ที่คุณต้องแบกตลอดการเดินทาง พูดอีกอย่างนึงคือค่านี้แทบจะไม่เปลี่ยนเลย ไม่ว่าคุณจะไป 10 วัน หรือ 2 วัน ก็ตาม
และอย่าเข้าใจผิดนะครับ Ultralight ไม่ใช่การจำกัดน้ำหนักของที่จะเอาไปนะครับ มันเป็นแค่เกณฑ์อ้างอิงอย่างหนึ่งที่มีคนคิดขึ้นมา แต่ใจความของมันคือ การพยายามลดน้ำหนักสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้คุณทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่มากขึ้น แน่นอนว่าถ้าคุณใช้มอเตอร์ไซด์ รถ หรือจักรยาน หรือเดินเที่ยวทั่วไป Ultralight ก็คงไม่จำเป็นกับคุณมากเท่าไหร่นัก แต่ถ้าคุณเป็นคนที่เดินแบกเป้ละก็ ผมว่าแนวคิดนี้สำคัญมากครับ
บางคนคิดว่าแค่ เอาของออกจากกระเป๋าให้มันเบาๆ หน่อยก็ใช้ได้แล้ว … ก็ถูกส่วนหนึ่งครับ แต่อย่าลืมจุดประสงค์ของการเดินทางของเรา เราไม่ได้ไปแข่งแบกน้ำหนักน้อย เอาของออกให้เบาได้ แต่อย่าลืมว่า สิ่งสำคัญคือ ของที่เอาไป ต้องทำให้เรามีที่นอน อบอุ่นไม่หนาว ต้องอิ่มท้อง และต้องปลอดภัย เพราะฉะนั้นของที่คุณเอาไป ต้องตอบโจทย์นี้ ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งก็คือ เราเอาของขั้นต่ำสุดที่ทำให้เรา กินอิ่ม นอนหลับ และปลอดภัยไปครับ นอกเหนือจากนั้นก็เอามันเก็บไว้ที่บ้าน
ลองมาดูความหมายของคำต่างๆ ที่เราควรจะรู้ในเรื่่อง การเดินทางแบบ Ultralight กันบ้างครับ ผมเข้าใจว่ายังไม่เคยมีคนเขียนเรื่องนี้มาก่อน (ที่ผมเคยเห็นว่ามีคนเขียนบทความเรื่อง Ultralight ก็เป็นเรื่องขายอุปกรณ์น้ำหนักเบาเสียมากกว่า) เลยอาจจะต้องขอบัญญัติคำไทยขึ้นมาใหม่บางตัวนะครับ อาจจะฟังแล้วไม่สอดคล้องกับคำภาษาอังกฤษบ้าง แต่ก็เน้นอ่านแล้วเข้าใจว่าคืออะไรมากกว่า ถ้าใครคิดคำไทยเพราะๆ ได้ก็แจ้งมาได้ครับ
คือน้ำหนักของเป้ที่รวมของภายใน โดยน้ำหนักนี้จะเป็นน้ำหนักที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดการเดินทาง โดยน้ำหนักพวกของใช้สิ้นเปลือง (Consumables) เช่น แก๊ส น้ำดื่ม อาหาร กระดาษชำระ ครีมกันแดด พวกนี้จะไม่นับรวมอยู่ในน้ำหนักฐาน (Based Weight) รวมถึงพวกน้ำหนักของเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ไม่รวมอยู่ในน้ำหนักฐาน (Based Weight) เช่นกัน
เมื่อเรารู้น้ำหนักฐาน (Based Weight) แล้ว เราก็จะสามารถจัดกลุ่มตามน้ำหนักฐานได้ตามนี้ครับ
คือน้ำหนักของอะไรก็ตามที่ใช้แล้วหมดไประหว่างการเดินทาง น้ำหนักของรายการเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามระยะเวลาของทริป อาจจะถูกกิน ดื่ม หรือใช้เผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง หรือใช้ทาหน้าทาตัว เช่น อาหาร น้ำ เชื้อเพลิง ครีมกันแดด กระดาษทิชชู่
คือ น้ำหนักฐาน(Baesd Weight) + น้ำหนักของใช้สิ้นเปลือง (Consumables) หรือพูดง่าย ก็คือน้ำหนักของทุกอย่างที่เราแบกอยู่บนหลังตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มเดินนั่นเอง
คือ น้ำหนักของเครื่องแต่งตัวของเรา เวลาที่เราเดิน ความหมายคืออะไรก็ตามที่เราสวมใส่ขณะเดิน เช่น ถุงเท้า รองเท้า แว่นกันแดด นาฬิกา หมวก น้ำหนักส่วนนี้ค่อนข้างที่จะระบุได้ยาก จำเป็นต้องระบุเป็นการแต่งตัวทั่วไปเวลาเดินเป็นค่าตั้งต้น เพราะว่า การแต่งตัวของเราจะเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศด้วย ทำให้น้ำหนักในส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้
คือ น้ำหนักของทุกอย่างที่คุณเอาไปในทริปนี้ หรือก็คือ น้ำหนักฐาน ( Based Weight) รวมกับ น้ำหนักของใช้สิ้นเปลือง (Consumables) และ น้ำหนักเครื่องสวมใส่ (Worn items) พูดง่ายๆ คือน้ำหนักรวมทุกอย่างที่คุณเอาไปครับ … ค่านี้เป็นค่าที่รู้ไว้ก็ดีครับ แต่ก็เอาไปใช้ในการบริหารจัดการไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ถ้าเอาไปปรับบริหารจัดการเรื่องน้ำหนัก เรามักจะดูค่าอื่นที่เจาะเป็นกลุ่มเสียมากกว่า
น้ำหนักฐาน (Based Weight) + น้ำหนักของใช้สิ้นเปลือง (Comsumables) = น้ำหนักของบนหลัง (pack weight) + น้ำหนักเครื่องสวมใส่ (Worn Items) = น้ำหนักรวมสุทธิ (Skin Out Weight)
คือ รายการอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่เราต้องเอาไปด้วย โดยเราจะไม่พูดถึงอุปกรณ์เป็นตัวๆ นะครับ แต่เราจะแบ่งเป็นกลุ่ม หรือเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการได้ง่ายกว่าการมองแยกเป็นชิ้นครับ เช่น เราพูดถึงระบบเครื่องนอน ซึ่งเครื่องนอนของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกัน บางคนระบบเครื่องนอน คือมี หมอน ถุงนอน แผ่นรองนอน แต่อีกคนเน้นใช้อากาศร้อนชื้น อาจจะเป็นแค่ผ้าห่มผืนเดียว ก็ได้ครับ เพราะฉะนั้น เราจะพูดกันเป็นระบบ และในระบบก็จะประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่นั้น
Big 3 จะประกอบไปด้วย
ทั้ง 3 ระบบนี้ เป็นน้ำหนักหลักๆ ที่อยู่ในน้ำหนักฐาน (Based Weight) ถ้าเราเอาไปมากมันก็จะทำให้เราต้องแบกมากไปด้วย เพราะฉะนั้น การเลือกว่าจะนอนแบบไหน ที่พักแบบไหน เป้แบ็คแพ็คแบบไหน จำเป็นที่จะต้องเลือกให้ดี ให้เหมาะกับลักษณะเส้นทาง สภาพอากาศ เพื่อไม่ให้เราต้องแบกมากเกินความจำเป็น ให้เราเหลือแรงไปทำกิจกรรมอื่นๆต่อได้อย่างเต็มที่ครับ
ยังไงผมขอยกตัวอย่าง Big 3 ของผมมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ประกอบความเข้าใจครับ
ทั้งหมดในชุด Big 3 ที่ผมยกมา ผมเลือกใช้ระหว่างผ้าห่ม กับถุงนอนนะครับ แล้วแต่สภาพอากาศ โดยเฉลี่ยได้น้ำหนักรวมราว 3.1 – 3.3 Kg ถ้าเราต้องการจะรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับ Ultralight ก็ยังมีน้ำหนักให้ใส่ได้อีกเกือบ 1.2- 1.4 Kg เลยครับ เพราะค่าน้ำหนักฐาน (Based Weight) ที่จะอยู่ใน Ultralight ก็คือ 4.5 Kg
หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เนื่องจากใช้ไม้เท้าเดินป่ามาทำเป็นโครงเต็นท์ แล้วทำไมไม่นับไม้เท้าเดินป่าเป็นน้ำหนักรวมในเต็นท์ด้วย … นั่น เพราะไม้เท้าเดินป่า เวลาเดินจะใช้มือถือเดินครับ เพราะงั้นมันจะไปอยู่ในน้ำหนักพวกเครื่องสวมใส่ (Worn Items) แทนที่จะเป็นน้ำหนักฐาน (Based Weight)
เพื่อนนักเดินทางท่านใดที่มีของอยู่แล้ว ทางผมก็ยังไม่สนับสนุนให้ซื้อใหม่นะครับ ยังไงลองติดตามอ่านตอนที่ 2 ซึ่งจะแนะนำวิธีการในการปรับลดน้ำหนักของลง โดยอยากจะให้ปรับลดจากของเดิมที่มีอยู่แล้วก่อนครับ ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ยังน้ำหนักมากอยู่ ก็ค่อยพิจารณาเป็นรายอุปกรณ์ไป
Big 4 ก็คือ การเอา Big 3 มาเพิ่มอีกระบบหนึ่งเข้าไป นั่นก็คือ ระบบประกอบอาหาร( Cooking System) ซึ่งระบบนี้ก็จะรวมพวกหม้อ หัวเตา แก้ว จาน ชาม ช้อนส้อม อะไรทั้งหลายที่เกี่ยวกับการกินครับ แต่ว่าในระบบนี้เค้าจะนับรวมพวกของใช้สิ้นเปลืองที่เกี่ยวกับการกินเข้าไปด้วย เช่น พวก อาหาร น้ำดื่ม และเชื้อเพลิงที่ใช้ในการทำอาหาร เป็นต้น
และด้วยความเข้าใจกับ คำจำกัดความที่ผมนำเสนอไปแล้วนั้น จะทำให้เราสามารถจัดอุปกรณ์ที่จะเอาไปด้วยออกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมด แน่นอนว่า มันทำให้เราสามารถบริหารจัดการได้ครับ … อย่างที่เคยได้ยินมา อะไรที่วัดไม่ได้ … ก็บริหารจัดการไม่ได้ … และตัวที่บริหารจัดการได้ดีที่สุดก็คือ น้ำหนักฐานครับ (Based Weight) เพราะอย่างที่บอกไปตอนต้น ว่ามันเป็นน้ำหนักที่คงที่ตลอดการเดินทาง และจะเดินทาง 2 วัน หรือ 10 วัน น้ำหนักส่วนนี้ก็ยังเท่ากันอยู่
ตัวอย่าง การวัดโดยการชั่งน้ำหนัก อุปกรณ์ แยกประเภทของกลุ่ม เพื่อให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ในเป้ที่เราเอาไปด้วย น้ำหนักมันมาจากอะไรบ้าง เดี๋ยวเรื่องนี้จะขยายความต่อในตอนที่ 2 นะครับ
เป็นยังไงบ้างครับ กับความหมายของคำว่า Ultralight ในการเดินทาง เชื่อว่าคงจะช่วยเพิ่มความเข้าใจให้กับทุกท่านได้ไม่มากก็น้อย ว่าจริงๆ แล้วระดับที่เรียกว่า Ultralight คือ น้ำหนักสิ่งที่เราแบกขึ้นบนหลัง ไม่รวมน้ำหนักพวกของกิน ของใช้ที่หมดไป ถ้าเราควบคุมน้ำหนักส่วนนั้นให้ น้อยกว่า 4.5 Kg ได้ เราก็จะไปถึง Ultralight ได้ โดยที่ใน 4.5 Kg นั้น น้ำหนักส่วนใหญ่ก็จะมาจากพวก Big 3 ซึ่งก็คือ อุปกรณ์กำบังสำหรับนอน พวกเป้แบ็คแพ็ค แล้วก็ เครื่องนอนทั้งหลาย หมายความว่าถ้าเราบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ดี … เราก็สามารถที่จะลดน้ำหนักลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญครับ และอย่าลืมว่า ของทุกอย่างที่เอาไป ต้องทำให้เรานอนได้ อุ่นสบาย ไม่หิว และคงไว้ซึ่งความปลอดภัยเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน … นี่หละครับ คือหัวใจของคำว่า Ultralight
งั้นยังไงเราออกไปซื้อของน้ำหนักเบา แต่ราคาแพงกันเลยไหมครับ …
ยังก่อนครับ … เมื่อกี้ผมล้อเล่น เพราะว่าตอนนี้เป็นเพียงตอนแรก เพื่อปูความเข้าใจในเรื่องของ Ultralight กันก่อน ยังมีตอนที่ 2 ที่จะมาเสนอวิธีการที่่จะทำให้เราไปถึงจุดนั้นกันอยู่ครับ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อหาอะไรเพิ่มมากมายเลยก็ได้ ยังไงรออ่านตอน 2 กันก่อนออกไปซื้อนะครับ ผมสัญญา … ว่ามันจะไม่นานมาก
แล้วพบกันในตอนหน้า ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบครับ
พีท ร้าน Pete & Paul
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว