อุปกรณ์เดินป่าแค้ปิ้งที่เป็นพวกผ้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าไนลอน โพลีเอสเตอร์ ผ้า Cordura ผ้า Silnylon หรือ Gore-Tex ก็ตาม ไม่ว่าคุณสมบัติผ้าจะทนทาน เหนียวแค่ไหน สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีอะไรที่ถาวร อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้อุปกรณ์ที่เป็นผ้าเหล้านี้ฉีกขาดได้ครับ
ลองนึกภาพเสื้อ Gore-tex ราคาแพงโดยหนามเกี่ยวจนขาด ถุงนอนขนเป็ดขาดจนขนเป็ดข้างในหลุดออกมา บ่อยครั้งที่เราจะเป็นต้องทิ้งอุปกรณ์เหล่านี้เพียงเพราะการขาดเพียงเล็กน้อยแล้วไม่รู้ว่าจะซ่อมหรือแก้ไขอย่างไร
เพราะฉะนั้นคราวนี้ผมจะมานำเสนอวิธีการซ่อมอุปกรณ์เดินป่าที่เป็นผ้ากัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าเต็นท์ ถุงนอน เสื้อ กางเกง หรือหมวก โดยจะเน้นผ้าที่เป็นพวกผ้ากันน้ำที่ผิวเรียบก่อนนะครับ โดยวิธีที่ผมจะเสนอ จะไม่มีเรื่องของการใช้ด้าย ใช้เข็มเย็บนะครับ สาเหตุเพราะว่า … ผมเย็บผ้าไม่เป็น และยังไม่มีความคิดจะไปฝึกทักษะด้านนี้ ถ้าเป็นหนักมากจนจำเป็นต้องเย็บ ก็ส่งให้ช่างเย็บผ้ามืออาชีพช่วยดำเนินการให้ดีกว่า
รอยขาดเล็กๆ พวกนี้เรามักจะพบเห็นกันบ่อย เช่น พื้นเต็นท์โดนมดหรือปลวกเจาะ แผ่นรองนอนโดนหนามตำจนรั่ว เสื้อผ้าที่โดนสะเก็ดไฟกระเด็นใส่จนะเป็นรูไหม้เล็กๆ เป็นต้นครับ
กรณีแบบนี้วิธีการซ่อมง่ายมากครับ โดยเราจะใช้กาวของ Gear Aid ในการซ่อม ปกติที่ใช้กันก็จะเป็นกาว Seam Grip WP+ ครับ แต่ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นตัวนี้ตัวเดียวนะครับ พวกกาว Aquaseal FD หรือ Aquaseal SR ซึ่งเป็นสูตรสำหรับซ่อมรองเท้าก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน
หลักๆ แล้ว กาวของ Gear Aid จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Seam Grip กับ กลุ่ม Aquaseal ครับ
Seam Grip จะเป็นกาวที่เนื้อเหลวกว่า เวลาหยดลงแล้วเนื้อไหลได้ในระดับหนึ่ง เหมาะกับกิจกรรมที่ผิวที่ซ่อมไม่โดนเสียดสี หรือขัดถูอะไร เช่น ซ่อมซีลเต็นท์Aquaseal จะเป็นกาวสูตรที่เน้นใช้กับอุปกรณ์ที่ต้องโดนน้ำอยู่เป็นประจำ มีการเสียดสี ขัดถูในระดับหนึ่งครับ เช่น ซ่อมรองเท้า ซ่อมบูธยางที่ใช้ใส่ลุยน้ำ ซ่อมเสื้อดำน้ำเป็นต้นครับ เนื้อกาวจะมีความข้นและหนืดกว่า Seam Grip
จะเห็นว่ามีหลายตัวครับ แต่ละตัวก็มีจุดประสงค์หลักในการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่ตัวหลักๆที่เราจะใช้กันก็คือ Seam Grip WP+ครับ
1 ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะซ่อม
เพราะพื้นผิวที่สะอาด ปราศจากสิ่งสกปรกจะทำให้การยึดติดของกาวดียิ่งขึ้น เราจึงต้องทำความสะอาดผิวก่อนครับ ปกติก็จะใช้ผ้าที่ไม่มีขนชุบกับแอลกอฮอล์ทำความสะอาด หรือที่เรียกว่า isopropyl alcohol หรือถ้าหาไม่ได้ก็ใช้พวกเอธิลแอลกฮอล์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 70% ก็ได้ครับ (พวกแอลกอฮอล์ล้างแผลก้ได้ครับ)
2 ติดเทปที่ด้านหลังของรูขาด
ต้องหาเทปกาว มาติดที่ด้านหลังรูขาด เพื่อกันไม่ให้เวลาทากาว แล้วกาวจะไหลลงไปในรูครับ จริงๆตัวกาวมันมีความหนืดในตัวอยู่ระดับนึง ถ้ารูเล็กๆ กาวมันจะเกาะที่ผิวไม่ให้เนื้อกาวไหลไปอีกฝั่งหนึ่งได้อยู่ครับ แต่ติดเทปกันไว้ดีกว่า
3 ทากาว Seam Grip WP+
ใช้แปรงทากาว Seam Grip WP+ ของ Gear Aid ให้เนื้อกาวหนาระดับนึง ทาครอบคลุมออกมาเกินรอยขาดด้านละประมาณ 1/4 นิ้ว เพื่อให้กาวมีที่ยืดเกาะกับผิว
ปล. ถ้าไม่มีแปรงก็ใช้พวกแท่งไม้ไอติมทาก็ได้นะครับ หรือเอาถุงพลาสติคใส่มือป้ายกาวทาเอาก็ได้
4 รอเวลาให้กาวแห้ง
รอเวลา 8 ชั่วโมง แล้วแกะเทปด้านหลังออกครับ
เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ง่ายไหมครับ การซ่อมรอยขาดขนาดเล็ก คราวนี้ลองมาดูกรณีที่รอยขาดใหญ่ขึ้นมาบ้าง
การซ่อมรอยขาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงรอยมีดบาด มีวิธีการที่ยุ่งยากมากขึ้นครับ และแน่นอนว่าวิธีการซ่อมที่นำมาเสนอก็ยังเป็นวิธีการซ่อมที่ไม่จำเป็นต้องเย็บเหมือนเดิมครับ ขั้นตอนก็จะคล้ายๆกับการซ่อมรูขาดขนาดเล็ก ก็คือมีขั้นตอนการทำความสะอาดผิว และทากาว Seam Grip WP+ แต่ครั้งนี้เนื่องจากรอยขาดขนาดใหญ่ขึ้น การทากาวอย่างเดียวไม่พอละครับ สิ่งที่เราจะเอามาใช้เพิ่มก็คือ เทปกาว Tenacious Tape จาก Gear Aid มีขั้นตอนการซ่อมอย่างไร มาดูกันเลยครบั
1 ตัดแต่งรอยขาดให้เรียบร้อย
ใช้กรรไกรเล็มตัดพวกขอบด้ายที่ลุ่ยออก ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราง่ายยิ่งขึ้นครับ
2 ติดเทป Tenacious Tape ของ Gear Aid
เราจะใช้เทปซ่อมอุปกรณ์ของ Gear Aid Tenacious Tape มาติดครับ โดยจะติดให้กว้างกว่ารอยขาดราว 1/4 และตัดเทปให้ไม่มีมุมเหลี่ยม เพื่อลดโอกาสในการเผยอของเทปในอนาคตครับ รูปทรงที่ติดได้ทนนานที่สุดก็จะเป็นวงกลม
ก่อนจะติดเทปก็อย่าลืมทำความสะอาดผิวก่อนนะครับ แล้วเราจะติดเทปที่ด้านใน พอติดแล้วก็ใช้นิ้วมือรีดอากาศออกจากแผ่นเทป รีดวนจากตรงกลางออกมาด้านนอก
3 ใช้กาว Seam Grip WP+ ทาที่ด้านนอก
ทำความสะอาดผิวที่ด้านนอก แล้วใช้กาว Seam Grip WP+ ทาเชื่อมรอยขาด โดยทาให้กาวตามแนวขอบรอยขาด แล้วเกลี่ยให้เรียบ ให้เกินรอยขาดออกไป 1/4-1/2 นิ้ว ครับ หลังจากนั้นก็รอให้กาวแห้งเป็นอันเสร็จเรียบร้อย ข้อเสียของวิธีนี้ก็คือ จะเห็นรอยกาวครับ โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยคิดว่าเป็นปัญหาอะไร
4 ถ้าไม่ใช้กาวทาที่ด้านนอกละ ?
กรณีที่ไม่ใช้กาวทาที่ด้านนอกนั้น เราสามารถใช้เทป Tenacious Tape แปะอีกฝั่งหนึ่งก็ได้ครับ แต่กรณีนี้จะแข็งแรงกว่า ถ้าเราให้ตรงกลางของเทปทั้ง 2 ด้านแปะโดนกันโดยตรงครับ
ในภาพประกอบนี้ใช้เทป Tenacious Tape แบบใสทำให้เวลามองผ่าน จะไม่เห็นรอยขาด เพราะจะเห็นทะลุไปเป็นสีของเนื้อผ้าแทน
แต่กรณีที่รอยขาดเป็นรูใหญ่ เทปใส ก็จะเห็นทะลุไปถึงรูขาด ซึ่งคงจะไม่สวยงามนัก เราสามารถหาเทปที่สีใกล้เคียงกับเสื้อมาใช้ก็ได้ หรือสามารถตัดเทปเป็นลวดลายเปะแทนได้ครับ เวลาซ่อมเสร็จก็จะเสมือนว่าเป็นลวดลายบนผ้าแทน
ปกติเวลาที่ผมซ่อมอุปกรณ์ก็จะใช้เทป Tenacious Tape กับ กาว Seam Grip WP+ เป็นหลักครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทดลองไปมาหลายแบบ บางทีก็ใช้กาวทาเชื่อมรอยขาดอย่างเดียว บางทีก็ใช้เทปติดด้านเดียว แต่วิธีการที่ผมนำมาเสนอนี้ ผมนำมาจากหนังสือ
Backpacker Magazine’s Complete Guide to Outdoor Gear Maintenance and Repair: Step-By-Step Techniques To Maximize Performance And Save Money (Backpacker Magazine Series) … ชื่อยาวมาก ซึ่งเป็นซีรีย์ของหนังสือของนิตยสาร Backpacker ของอเมริกาครับ ผู้เขียนคือ Kristin Hostetter ซึ่งเป็นบรรณาธิการในส่วนของการทดสอบอุปกรณ์ของนิตยสารมานานกว่า 15 ปี มีประสบการณ์ในการใช้งานและซ่อมแซมอุปกรณ์มามากมาย … เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าวิธีการซ่อมได้มาตรฐานแน่นอนครับ
หนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดการซ่อมเยอะมาก ท่านใดสนใจก็ลองหามาอ่านกันดูครับ
พบกันใหม่คราวหน้า ขอให้อุปรณ์ของทุกท่านอายุยืนนานครับ
พีท
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว