ห่างหายจากการเขียนบทความไประยะหนึ่งนะครับ เหตุเพราะเรากำลังทำร้านของตัวเองให้เป็นหลักแหล่งซักทีหลังจากล่องลอยอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตมานาน ร้าน Pete & Paul Outdoor นี้สร้างขึ้นมาจากกำลังกายและกำลังใจจริงๆครับ พีทกับผมช่วยกันเลื่อยไม้ ตกแต่ง ทาสี ทำตู้ ทำชั้นวางของโชว์กันเอง ตอนนี้ร้านก็เสร็จแล้วเชิญแวะมาเยี่ยมเยียนพูดคุยกันได้ครับ ร้านตั้งอยู่ที่
1058/109 ถ. พหลโยธิน
แขวงจอมพล เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร 10900
ตำแหน่งร้านหาได้ง่ายมาก อยู่ตรงข้ามสวนจตุจักรไม่ไกลจากธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่หรือสถานีบีทีเอสหมอชิต ใช้เวลาเดินราว 5 นาที จากที่ใดที่หนึ่งครับ เข้าซอย (ตัน) ยูโรป้า ไปราว 30 เมตร ช่วงแรกนี้ร้านเราเปิด 17.00-19.00 วันจันทร์ถึงวันศุกร์และ 13.00-18.00 วันเสาร์-อาทิตย์ (หยุดเมื่อเหนื่อยนะครับ) มานอกเวลาก็โทรมานัดกันก่อนได้ครับ
สำหรับบทความของร้านพีทแอนด์พอลชิ้นนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่พึงปราถนาของนักเดินทางซักเท่าไหร่ คงจะพอเดาออกนะ สิ่งนั่นคือความเจ็บป่วยครับ ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเราได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเดินทาง ปัจจัยหลักก็เพราะเวลาเปลี่ยน พักผ่อนน้อย ดื่มน้ำน้อยไป ทานอะไรที่แปลกประหลาดเกินเหตุ หรือไปเจอเชื้อโรคแบบใหม่ๆ ที่เราไม่มีภูมิคุ้มกัน ถ้าเป็นทริปไปเดินป่ายิ่งแล้วใหญ่เพราะต้องเจอกับอะไรแบบสุดๆ เช่น อากาศแห้ง เย็นหรือไม่ก็ร้อนจัด บางทีเดินฝ่าสายฝนเปียกโชกทั้งตัวเป็นเวลานาน ได้รับสารอาหารจำเป็นไม่พอ เจอแบบนี้เข้าไปแม้ร่างกายจะแข็งแรงก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้มาก
อย่างผมเคยเดินทางไปอินเดียตั้งใจจะไปเที่ยวราชาสถานกับปันจาบให้เต็มที่ซัก 16 วัน แต่กลับป่วยหลังจากไปถึงได้วันเดียว เป็นไข้นอนซมอยู่อาทิตย์นึงไปไหนแทบไม่ได้ต้องเลื่อนตั๋วเครื่องบินเพื่อกลับก่อนกำหนด ทริปนั้นกร่อยไปเลย ในสถานะการณ์แบบนี้ถ้าเรามีความรู้เบื้องต้นสำหรับดูแลตัวเองจะเป็นประโยชน์มาก ยาที่พกติดตัวไปเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบรรเทาอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นหวัดธรรมดาๆ หรือ ท้องเสีย หรือถ้าเป็นอะไรที่หนักกว่านั้นก็ช่วยพยุงหรือทุเลาอาการก่อนไปถึงมือหมอครับ ร้านพีทแอนด์พอลจึงอยากนำเสนอตำรับยาสามัญประจำเป้ที่พวกเราพกติดตัวไปเสมอเมื่อเดินทาง จะเป็นทริปในป่า (in the wilderness) ในเมือง (in civilization) หรือทริปแบบผสม (hybrid trip) ก็ได้ครับ ลองมาดูกันพอเป็นตัวอย่างนะครับว่าพวกเราพกสำรับยาประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ยาจะพยายามบอกเป็นชื่อยาสามัญนะครับ (ในวงเล็บเป็น ตัวอย่างชื่อทางการค้าที่น่าจะหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป) ส่วนปริมาณตัวยา ช่วงเวลาที่ใช้ เพื่อนๆปรึกษาเภสัชกรหรือหมอได้เลยครับเพราะจะขึ้นกับปัจจัยต่างเช่น เพศ น้ำหนัก อายุ ของแต่ละคนไป
1. กระเป๋าใส่ยา เอาไว้จัดยากับอุปกรณ์เป็นหมวดหมู่ นำออกมาใช้ได้ง่าย กระเป๋าควรกันน้ำได้ดีในระดับหนึ่งครับ
2. ยาบรรเทาอาการเมารถหรือเรือ เช่น ไดเมนไฮดริเนท (ดรามามีน) อันนี้นานๆๆๆจะได้ใช้ที ส่วนใหญ่เป็นทริปที่อยู่บนเรือเกิน 4-5 วันขึ้นไป
3. ยาลดไข้ แก้ปวด เช่น พาราเซ็ตตามอน หรือ อาซีตามิโนเฟน (ไทลีนอล) ไอบูโพรเฟน (แอดวิล)
4. วิกวาโปรับ อันนี้ขาดไม่ได้เลย บรรเทาอาการหวัดคัดจมูก แม่ทาให้ประจำตั้งแต่เป็นเด็ก เลยติดใช้มาจนโตป่านนี้
5. ยานวดบรรเทาอาการเจ็บกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อ (เคาน์เตอร์เพน หรือ โวลตาเรนอีมัลเจล)
6. ยาฆ่าเชื้อ เช่น Amoxicillin ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ต้องใช้ด้วยความเข้าใจพอควรนะครับ ถ้าเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสจะแก้ไม่ได้นะ แต่อาจใช้ยาเพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำยามที่ร่างกายอ่อนแอ เมื่อกินแล้วต้องกินให้ครบเซ็ต เช่น เช้าเย็นติดต่อกัน 10 วัน ครับ ป้องกันเชื้อดื้อยาต่อไปในอนาคต
7. ยาแก้แพ้ (คัน น้ำมูกไหล) เช่น เซทีริซีน (เซอร์เทค) พวกแพ้ฝุ่นแล้วจามเยอะๆ หรือไม่ก็คัน ใช้ได้ผลดีมากครับ
8. ยาลดการจุกเสียดแน่นท้อง ลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น บิสมัท ซาลิไซเลท (เปปโต้ บิสมอล)
9. ยาบรรเทาอาการท้องเสีย พวกถ่านอัดเม็ด (อุลตร้าคาร์บอน) สำหรับเอาไว้ดูดซับเชื้อโรค หรือสารพิษที่ทำให้ท้องเสียออกจากร่างกาย ผงถ่านนี้ต้องกินหลังจากยาตัวอื่นๆ ไม่เข่นนั้นจะดูดซับยาดี ทำให้การรักษาอาการอื่นได้ผลไม่เต็มที่
10. ยาป้ายสำหรับแผลร้อนในหรืออักเสบในปาก เช่น ไตรโนโลน ออรัลเพสท์ (ไตรนาล็อก) อันนี้มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ถ้าใครกังวลเรื่องนี้มากปรึกษาหมอก่อนใช้ก็ดีครับ อย่างผมปกติใช้น้อยมาก (ปกติใช้ไม่กี่วันแผลก็หายแล้ว) เลยไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่ครับ
11. ยาใส่แผลสด เช่น โพรวิโดน ไอโอดีน (เบตาดีน) ยาใส่แผลชนิดนี้ไม่แสบมากเหมือนยาแดง อันนี้ขาดไม่ได้เลยสำหรับทีมเดินทางของผมเพราะแต่ละคนค่อนข้างจะซุ่มซาม เดินเตะนู่นชนนี่ได้แผลเป็นประจำครับ
12. แอลกอฮอร์ สำหรับเช็คฆ่าเชื้อโรค
13. พลาสเตอร์ปิดแผล
14. ผ้าก็อซ สำหรับพันแผล
15. ชุดอุปกรณ์เย็บแผลเบื้องต้น (อันนี้จะทำได้ต้องฝึกปฏิบัติเบื้องต้นมาสักนิดนะครับ)
16. เทปกาวแต่งแผล หรือติดผ้าก็อซ เช่น 3M Transpore
17. แหนบคีบ
18. กรรไกรเล็กๆ
19. ยาทาสำหรับเวลาเจอแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น แซมบัค
20. ยาพ่นสำหรับไล่ยุง
21. วิตามินซี และวิตามินรวมต่าง อันนี้เวลาไปเดินป่าผมไม่ได้เอาไปด้วยเพราะหนักเกินความจำเป็น แต่ถ้าเป็นทริปแบบเอาของใส่รถขับไปเที่ยวเอาติดไปด้วยเถอะครับ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันหวัดดีนักแล
22. ยาประจำตัวสำหรับอาการเฉพาะอื่นๆ เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น
23. อย่าลืมออกกำลังกาย ทานน้ำเยอะๆ และทานอาหารให้ครบหมู่นะครับ
หากพกไปตามนี้ก็น่าที่จะโอเคในระดับหนึ่งครับเพราะเราเองก็รอดชีวิตมาหลายปี เรียกว่าทุกสภาพอากาศ จากหลายประเทศในหลายทวีปก็ด้วยสำรับยาชุดนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะปรับเปลี่ยนสำรับยานี้ตามความเหมาะสมของแต่ละคนไปนะ
เมื่อยามเดินทางก็ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพ ดูแลตัวเองให้ดี มีความสุขสบายและเที่ยวอย่างสนุกครับ มีข้อแนะนำ ติชมอย่างไรเกี่ยวกับบทความนี้เขียนมาหาเราได้เสมอครับ
แล้วพบกันที่ร้าน Pete and Paul Outdoor หรือไม่ก็บนเทรลนะครับ
พอล
Two wrongs do make a right on the road; there, two rights make a right even.
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว