รู้จักกับการเคลือบกันน้ำเต็นท์

หลังจากที่เปิดร้านมาซักพักนึง ได้เจอลูกค้าหลากหลาย ส่วนหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ตั้งใจมาซื้อเต็นท์ พอได้พูดคุยและสังเกตุคำถามของลูกค้าส่วนใหญ่เลย จะพบกว่า สิ่งที่พวกเค้าเป็นกังวลกันมากที่สุดคือ เต็นท์กันน้ำได้ 100 % หรือเปล่า ? บางคนถามย้ำผมหลายรอบ ไม่เข้าแน่นะ แน่ใจนะว่าน้ำไม่เข้า … ดูเหมือนความกลัวน้ำจะฝังอยู่ในจิตใจเพื่อนนักเดินทางหลายๆท่านมากทีเดียว

ความเข้าใจที่ผิดกันอย่างหนึ่งคือ ผ้าไม่ใช่ตัวกันน้ำนะครับ สิ่งที่กันน้ำได้ตัวเคลือบผ้าต่างหาก เต็นท์เกือบทั้งหมดที่ขายกันในท้องตลาดจะมีการเคลือบกันน้ำไว้ที่ผ้าอยู่แล้ว และการที่เต็นท์หมดอายุส่วนใหญ่ก็คือหมายถึงเคลือบกันน้ำเสื่อมนี่แหละครับ ปกติเต็นท์ถ้าเก็บในที่แห้ง ไม่อับชื้น ไม่ร้อนมากไป อายุเคลือบกันน้ำพวกนี้ก็จะอยู่ได้นานครับเป็น 8 ปี 10 ปี เลยทีเดียว

ตัวอย่าง การทาเคลือบกันน้ำที่ผ้าเต็นท์

จริงๆแล้วผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อนานมาแล้ว ในหัวข้อเรื่อง เต็นท์กันน้ำได้มากน้อยแค่ไหน ดูอย่างไร ใครสนใจลองตามไปอ่านกันได้ครับ จะพูดถึงเรื่องค่าการกันน้ำ หรือที่เรียกว่า Hydrostatic Head ที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเต็นท์ที่คุณมี หรือจะเลือกซื้อนั้น กันน้ำได้มากน้อยแค่ไปน และมีวิธีในการดูยังไง เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อการโฆษณาทางการตลาด

สารเคลือบที่นิยมใช้กันในเต็นท์อย่างแพร่หลายจะมีอยู่ 2 ตัว ก็คือ โพลียูรีเทน กับ ซิลิโคน จริงๆ แล้วนอกจาก 2 ตัวนี้แล้วยังมีสารอื่นที่มักใช้ในการเคลือบ คือ polyvinylchloride (PVC), กับ acrylic (polyacrylonitrile PAN) แต่พวกนี้จะไม่ค่อยยืดหยุ่นนัก โดยเฉพาะที่เวลาเจออุณหภูมิต่ำๆ นอกจากนั้น PVC ยังมีน้ำหนักมาก อีกทั้งกระบวนการผลิตก็ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เลยไม่ค่อยนำมาใช้กันครับ ยังไงเรามาดูคุณสมบัติของ 2 ตัวหลักกันดีกว่า

  • โพลียูรีเทน (polyurethane) หรือที่เรียกว่า PU สามารถเคลือบได้ทั้งผ้าโพลีเอสเตอร์ หรือ ไนลอน เป็นการเคลือบแบบที่เต็นท์ทั่วไปใช้กัน ตัวนี้จะทำให้ผ้ามีน้ำหนักมากกว่าวิธีการเคลือบอีกแบบ สารเคลือบ PU มีหลายสูตรครับ มีทั้งแบบคุณภาพต่ำ และสูง คุณสมบัติการกันน้ำและอายุการใช้งานก็แตกต่างกันด้วย เต็นท์ที่คุณภาพต่ำ ราคาถูกก็มักจะใช้ PU เกรดต่ำ ที่กันน้ำไม่ดี และอายุสั้น
  • ซิลิโคน (Silicone) ใช้เคลือบผ้าไนลอน ซึ่งจะกลายเป็นผ้าที่เราเรียกกันว่า Silnylon ตัวนี้เคลือบแล้วผ้าจะกันน้ำได้ดีกว่า แต่การผลิตใช้เวลาเยอะกว่า ราคาก็เลยแพงกว่าด้วย ผ้าเต็นท์ซิลิโคนจะซีลด้วยเทปยาก เพราะผ้ามันลื่น การยึดติดกับสารอื่นทำได้ยาก ถ้าขาดก็เอาเทปแปะไม่อยู่ ปกติก็เลยมักจะเคลือบซิลิโคน ด้านนอกด้านเดียว แล้วอีกด้านเคลือบ Polyurethane เอา เต็นท์ที่เคลือบซิลิโคน 2 ด้านจะกันน้ำดีกว่าและมีราคาสูงกว่าที่เคลือบด้านเดียว

ตัวอย่างรายละเอียดของเต็นท์ Naturehike Mongar 2 จะเขียนว่า ผ้าไนลอนเคลือบซิลิโคน ให้ค่าการกันน้ำอยู่ที่ 4,000 mm

โดยสรุปแล้วทั้ง โพลียูรีเทน และ ซิลิโคน กันน้ำได้เหมือนกัน เพียงแต่เคลือบซิลิโคนกันน้ำได้ดีกว่าอีกหน่อยครับ สำหรับการใช้งานในบ้านเรา ถ้ามองแค่การกันน้ำ เต็นท์เคลือบโพลียูรีเทนที่มีคุณภาพดีหน่อย ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ปกติถ้าให้ผมแนะนำเต็นท์เคลือบซิลิโคนจะเหมาะกับคนที่ต้องการเน้นที่ความเบามากกว่าครับ เพราะราคาเต็นท์เคลือบซิลิโคนมันก็แพงกว่าเคลือบโพลียูรีเทนค่อนข้างเยอะอยู่

โดยสรุปก็คือ เต็นท์มันไม่ได้น้ำเข้าง่ายขนาดนั้นหรอกครับ ที่เต็นท์บางเจ้าทั้งๆที่เขียนบรรยายสรรพคุณ ผ้าอย่างนู้นอย่างนี้ กันน้ำ 5000 mm 7000mm 8000 mm แต่น้ำก็ยังเข้า เพราะเหตุผลง่ายๆเลยครับ … มันเป็นปัญหาคุณภาพการผลิต เช่น สารเคลือบกันน้ำคุณภาพต่ำ ไม่ได้คุณภาพ อย่างที่อ้างไว้ หรือเคลือบไม่ทั่วถึง หรือ ตรงรอยตะเข็บซีลมาไม่ดี มีบางช่วงไม่ได้ซีลก็มี นั่นแหละครับเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำเข้าเต็นท์

จบตอนแล้วครับ

ทิ้งท้ายนิดนึงครับ การเลือกซื้อเต็นท์ นอกจากจะดูที่รายละเอียด คุณสมบัติของ ผ้า เคลือบ PU หรือ เคลือบซิลิโคน แล้ว ต้องดูค่าการกันน้ำเป็นหน่วย มิลลิเเมตรประกอบด้วย ควรจะต้องสอดคล้องกัน ถ้าเมื่อไหร่เจอค่าแปลกๆ เช่นค่าการกันน้ำ 8000 mm เคลือบซิลิโคน  แต่กลับขาย 2,000-3,000 บาท ซึ่งถึือว่าราคาถูกเกินไป จนผิดสังเกตุ อย่างที่เรียนไว้ว่าการเคลือบซิลิโคนมันมีต้นทุนการผลิตที่สูง ถ้าเจอแบบนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยครับ ว่าค่าอาจจะตั้งมาให้เกินจริง เพื่อประโยชน์ทางการตลาด การเลือกซื้อเราก็ควรจะรู้เท่าทันคนขายด้วยนะครับ

พบกันใหม่คราวหน้า อย่าลืมนะครับ แค่มีเงินซื้อยังไม่พอ เราต้องมีความรู้ด้วยขอบคุณครับ

พีท