สวัสดีครับ เมื่อ 2 วัน ก่อน ผมได้เผยแพร่ เรื่องของการเดินทางไปปีนเขาที่ คีนาบาลู ประเทศมาเลเซีย ลงที่ Facebook ของร้าน Pete & Paul เรื่องนี้เขียนรีวิวการเดินทางโดยน้องๆ ที่น่ารักของผมเอง ตอนนั้นผมบอกว่าผมจะเขียนเหตุผลที่ทำให้ผมไม่อยากไป เดินที่คีนาบาลู (kinabalu) มาให้อ่านกัน ถึงแม้ว่าจะมีหลายคนเคยชวนผมไป แต่ผมก็ปฏิเสธไปเสียทุกครั้ง ถามว่าผมเคยคิดอยากจะไปไหม ตอบได้เลยว่า เมื่อหลายปีก่อนเคยอยากไปครับ เคยลงทะเบียนจองไปแล้วด้วย แต่ติดปัญหาเรื่องเวลาซึ่งต้องจองนานมากๆ เลยไม่ได้ไปซะที
ระหว่างนั้นก็ได้ไปที่อื่นแทน พอได้มีโอกาสไปที่อื่นหลายๆที่เข้า ความอยากไปคีนาบาลูก็ลดน้อยถอยลงทุกวันๆ ถ้าวันนี้มีคนชวนไป ผมยังต้องขอใคร่ครวญดูก่อน ส่วนสาเหตุว่าทำไมนะเหรอครับ ลองมาดูเหตุผล 7 ข้อที่ทำให้ผมไม่อยากไปที่คีนาบาลูกัน
ด้วยความที่ยอดเขา คีนาบาลู เป็นยอดเขาที่มีความสูงติดอันดับของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีคนบอกว่าสุงที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่ก็เป็นข้อมูลที่ผิดนะครับ ปัจจุบันเชื่อกันว่าสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการที่มีคำว่า “สุด” นี่แหละ ที่ทำให้หลายคนมุ่งมั่นที่จะขึ้นไปยืนบนยอดให้ได้ เหมือนคนที่ขึ้นไปปีนเอเวอเรสต์ก็ด้วยความเป็นที่สุดของมันนี่แหละ
จะว่าไปคำตอบของข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเดินขึ้นเขาไปทำไม บางคนขึ้นเขาเพื่อทำสถิติ บางคนแสวงหาความภาคภูมิใจให้ตัวเอง บางคนขึ้นเขาเพื่อท้าทายตัวเอง บางคนขึ้นเพราะเพื่อนชวนไป ส่วนผม … ผมแค่อยากไปพักผ่อน หลีกหนีจากชีวิตงานประจำที่ซ้ำซากจำเจ หลักๆคงต้องบอกว่า ผมออกแสวงหาความสงบเสียมากกว่า เพราะงั้นผมไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่ต้องไปตามหาที่สุด ผมเลยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอะไร ผมก็ค่อยๆไปเรื่อยๆ จะสูงแค่ไหน ก็ไม่เป็นประเด็นนัก
ผมไม่ค่อยชอบคนเยอะๆ ด้วยเหตุผลอย่างที่ผมบอกไปในข้อแรกแล้วว่า ผมไปแสวงหาความสงบทางใจ ทำให้ผมไม่ชอบความพลุกพล่านนัก ถึงแม้ว่าทางอุทยานจะจำกัดจำนวนคนขึ้นต่อวันที่ 135 คน (เลยเป็นเหตุผลทำให้จองคิวยากมากๆ) ทำให้ตอนเดินขึ้นไม่วุ่นวาย หรือแออัด เลยก็ตาม แต่สำหรับที่พัก ผมก็ยังคิดว่าค่อนข้างพลุกพล่านอยู่ เพราะด้วยระเบียบการพัก ที่ทุกคนต้องพักในบ้านพักที่อุทยานจัดเตรียมไว้ให้ ทำให้ไม่สามารถไปกระจายกันพักได้ ทำให้ต้องนอนเรียงกันเป็นแถวบนเตียงที่จัดไว้ให้ แน่นอนว่าด้วยความเป็นที่นิยม ส่วนใหญ่แล้วคนจะเต็มทุกเตียง จะขยับ หยิบจับอะไร ลุกเข้าลุกออก ก็จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างด้วย ก็ต้องเกรงอกเกรงใจกันพอสมควร
บรรยากาศตอนเดินโล่งๆ สบายๆ ครับ ไม่แออัด
การจำกัดสถานที่นอน ด้วยความที่การบริหารจัดการของอุทยานทำได้เป็นระบบดีมาก และเพื่อความปลอดภัย ทำให้ทางอุทยานจำกัดที่ในการนอน โดยจะจัดเป็นบ้านพักให้นักเดินทาง คุณไม่สามารถจะเอาเต็นท์ขึ้นไปกางนอนได้ ต้องนอนบ้านพักเท่านั้น ซึ่งจริงๆก็เป็นเรื่องที่ดีมากครับ ทำให้เราไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรไปมากนัก ตัดเรื่องเต็นท์ ถุงนอน แผ่นรองนอน ไปได้เลย ลดน้ำหนักในเป้ได้เยอะ แต่บังเอิญว่าผมดันเป็นคนชอบนอนเต็นท์มากกว่า นอนบ้านพัก เพราะความรู้สึกนอนเต็นท์มันให้บรรยากาศในการผจญภัยที่สนุกสนานมากกว่า
ภาพสถานที่พัก หรูหรา สมกับราคาที่จ่ายครับ
การมีไกด์ เป็นข้อบังคับของอุทยานเลยว่า ใครก็ตามที่ไปเดินต้องมีไกด์ประจำกลุ่มครับ จำนวนไกด์มาแค่ไหน ก็ขึ้นกับว่าคณะที่ไปมีกี่คน ถ้ามีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ต้องมีไกด์ประกบไป โดยไกด์ 1คน รับเด็กได้ 2 คน และถ้าเป็นผู้ใหญ่ ไกด์ 1 คน รับผู้ใหญ่ได้ 5 คน หรือ ถ้ามีปนกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในกลุ่มด้วย ไกด์ 1 คนจะรับ ผู้ใหญ่ได้ 2 คนกับเด็ก 1 คนครับ ยกตัวอย่าง ถ้าทริปนี้มีผู้ใหญ่ 6 คนไป กับเด็ก 3 คน คุณอาจจะต้องจ้างไกด์ 3 คนเลยทีเดียว
การมีไกด์ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งคือ เรื่องความปลอดภัย มีคนบรรยายให้ฟัง มีคนคอยควบคุมจังหวะการเดินของกลุ่ม คอยช่วยตามหลังสนับสนุน เวลาที่คุณเกิดปัญหา แต่ส่วนตัวผมก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ โดยเฉพาะตอนที่เดินรั้งท้าย เพราะจะรู้สึกเหมือนมีคนคอยเดินกดดันด้านหลังตลอดเวลา เร่งให้เรารีบเดินตามคนอื่นให้ทัน
เวลาที่ผมเดินขึ้นเขา ผมมักจะอยากอยู่นานๆ ค่อยๆชื่นชมธรรมชาติ ชมวิวทิวทัศน์ หรือถ่ายภาพ และมันคงจะน่าเสียดายมากที่เดินขึ้นเขาไปตั้งนาน ได้อยู่ดูวิวแค่ตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็ต้องเดินกลับลงซะแล้ว หรือบางทีเราอยากขึ้นไปดูก่อนว่าชอบไหม ถ้าชอบแล้วเกิดอยากอยู่ต่ออีกวันหรือสองวัน ถ้าเป็นที่อื่น เราก็แค่ตั้งแคมป์อยู่ต่อไป แต่ที่นี่จะอยู่ได้ต้องจองล่วงหน้าไว้ก่อนครับ ความหมายผมคือ มันดูจะขาดความยืดหยุ่นในการปรับแผนการเดินทางของเรา เพราะทุกอย่างต้องจองล่วงหน้า
ด้วยความที่เป็นอุทยานที่มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ ค่าที่พักที่ดูดี อาหารการกินที่จัดเตรียมไว้ให้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินขึ้นลงที่คีนาบาลูทริป 2 วัน 1 คืน ค่อนข้างแพงเอาเรื่องทีเดียว จากข้อมูลที่ผมมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดในการขึ้น อยู่ที่ราว 12,000-13,500 บาท (อันนี้รวมค่ารถ ค่าอาหาร ค่าที่อยู่ ค่าไกด์ ค่าเข้าอุทยาน) ซึ่งจำนวนเงินเท่านี้ ผมสามารถเดินเที่ยว ตั้งแคมป์อยู่บนเขาที่ญี่ปุ่นได้ราว 8-10 วันเลยทีเดียว ( อันนี้ไม่นับค่าเครื่องบินนะครับ) หรือ ถ้าจะไปเดิน รินจานี อินโดนีเซีย ก็อาจเดินได้ 5 วัน แล้วเหลือเงินทอนกลับลงมาอีก 6000 บาท
ความยากในการจองเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างนึงที่ทำให้ผมไม่ค่อยอยากไปคีนาบาลู เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าที่ คีนาบาลู เค้าจำกัดจำนวนคนขึ้นต่อวัน เพราะฉะนั้น ต้องจองล่วงหน้าครับ ถ้าเป็นช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ นี่อาจจะต้องจองกันล่วงหน้านาน 6 เดือนขึ้นไปเลยทีเดียว บางทีอีก 6 เดือนเราอาจจะไม่อยากไปแล้วก็ได้ หรือเกิดเหตุขัดข้องทำให้ไปไม่ได้ เพราะเหตุปัจจัยมันเปลี่ยนได้มากในช่วงเวลานานขนาดนั้นครับ
และเหตุผลทั้งหมดนี่คือ 7 ข้อที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมไปเดินขึ้นเขาที่อื่นก่อนดีกว่า … ซึ่งอันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ เอาไปใช้อ้างอิงความเห็นทุกคนไม่ได้ เพราะความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน … แต่เรียนตรงๆ ก็ไม่ใช่ไม่อยากไปนะครับ เพียงแค่จัดอันดับไว้ท้ายๆ ตาราง เท่านั้นเอง เพราะถ้ามีโอกาสวันนึงก็คงจะไป แต่ ณ ตอนนี้ ผมยังสบายใจกับการไปที่อื่นมากกว่า
พีท
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว