ในการกางเต็นท์ ส่วนของเต็นท์ที่ต้องรับภาระมากที่สุด ก็คือพื้นเต็นท์ครับ ไหนจะต้องแรงกดทับจากน้ำหนักตัวคนนอน ไหนจะต้องทนการขูดขีด ลากถูไปกับพื้น ทั้งหินดินหญ้า ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะทำให้พื้นเต็นท์เสื่อมสภาพเร็วกว่าชิ้นส่วนอื่นๆครับ บรรดาเหล่าผู้ผลิตจึงต้องออกแบบให้พื้นเต็นท์มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าชิ้นส่วนอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะออกแบบให้ทนทานแค่ไหน มันก็ต้องถึงวันเสื่อมสลายไปจากการใช้งาน ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เราต้องเปลี่ยนทั้งเต็นท์เลยก็ได้ ด้วยสาเหตุนี้แหละครับ ทำให้กราวด์ชีท หรือ ฟุตพรินท์ เข้ามามีบทบาทสำคัญ
กราวด์ชีท (Ground Sheet) หรือ บ้างก็เรียก ฟุตพรินท์ (Foot Print ) คือ แผ่นอะไรก็ตามที่เอามาปูรองใต้พื้นเต็นท์ก่อนที่เราจะกางเต็นท์วางไว้ด้านบน เพื่อลดภาระหรืออันตรายที่อาจจะเกิดกับพื้นเต็นท์ ทั้งในด้านการป้องกันการขาดจากการโดนหินหรือกิ่งไม้แหลมๆ ปลวก เจาะทะลุ หรือป้องกันการเสื่อมสภาพของสารเคลือบกันน้ำบนพื้นเต็นท์ ซึ่งจะเสื่อมจากการที่ผ้าถูกลากขูดกับพื้นจนนานเข้าเคลือบกันน้ำค่อยๆร่อนหลุดออกไป นอกจากนั้นกราวด์ชีทยังทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะชั้นแรกในการป้องกันน้ำ ทำให้พื้นเต็นท์ของเราสะอาด ไม่เปื้อนคราบดินโคลน ทำให้การพับเก็บทำได้ง่ายขึ้น
ในขณะที่บางคนก็บอกว่ากราวด์ชีทอาจจะเป็นเครื่องมือที่ไม่จำเป็น ซึ่งผู้ผลิตทำมาขายเพื่อดูดเงินจากกระเป๋าเงินของเรา เพราะเต็นท์ก็มีพื้นอยู่แล้ว ก็แค่ไปหาพื้นที่กางเต็นท์ที่เรียบๆ หรือเป็นหญ้านุ่มที่ไม่ทำอันตรายกับพื้นเต็นท์ก็ได้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่ากราวด์ชีทไม่ได้จำเป็นทุกกรณี แต่ชีวิตนักเดินทางใช่ว่าเราจะเลือกตำแหน่งกางเต็นท์ที่ดีได้ทุกที่ และที่สำคัญคือ เต็นท์ยุคปัจจุบันนิยมทำให้พื้นบาง โดยการใช้ผ้าที่มีดีเนียร์ต่ำในการทำ (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว ลองไปอ่านได้ในบทความ “เลือกเต็นท์อย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน” ) เช่น 15D 20D หรือแม้แต่ 7D มาทำเป็นพื้นเต็นท์ เพื่อให้เต็นท์มีน้ำหนักที่เบา เป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับการขายของมาก แต่พื้นเต็นท์บางคงไม่เป็นประโยชน์กับคนใช้งานเท่าใดนัก
เต็นท์สมัยใหม่หลายๆตัวเวลาบอกสเป็คจะบอกน้ำหนักที่เป็น Minimum Weight ซึ่งก็คือน้ำหนักของเต็นท์รวมเสา แต่จะไม่รวมสมอบกและเชือก ซึ่งแน่นอนครับว่าจะไม่รวมน้ำหนักของกราวด์ชีทด้วย ซึ่งก็ส่งผลให้น้ำหนักเต็นท์ที่เขียนไว้บนสเป็คดูเบาลงอีกมาก ซึ่งผู้ผลิตเหล่านี้ก็มักจะขายหรือแถมกราวด์ชีทให้เมื่อเราซื้อเต็นท์ ฟังดูดี เพราะได้เต็นท์น้ำหนักเบา แถมยังมีของแถมให้อีก ซึ่งก็แน่นอนครับว่าเมื่อพื้นเต็นท์บาง ก็จำเป็นต้องพกกราวด์ชีทติดตัวไปใช้คู่กันเสมอ ทำให้น้ำหนักบรรทุกตอนใช้งานจริงหนักขึ้นกว่าที่เราคิดไว้
ภาพแสดงการวางกราวด์ชีท
ตัวอย่างกราวด์ชีทที่ออกแบบมาให้ขนาดพอดีกับเต็นท์ จะมีช่องให้ใส่เสาเต็นท์เข้าไปได้ เพื่อล็อคให้กราวด์ชีทไม่เคลื่อนออกจากเต็นท์ที่วางทับด้านบน
ต้องยอมรับว่า กราวด์ชีทมีประโยชน์มาก ซึ่งผมแนะนำว่าเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ควรจะต้องมีติดตัวไปใช้ในการตั้งแค้มป์ (ยกเว้นเต็นท์เราราคาไม่แพง และพร้อมที่จะปล่อยให้พังแล้วซื้อใหม่หรือได้) มีข้อเสียอย่างเดียวเลยสำหรับนักเดินทางที่ต้องการความเบา คือ … มันหนักครับ เพราะกราวด์ชีททั่วไปที่แถมมาหรือขายกันอยู่อาจจะหนักได้ถึง 15-40% ของน้ำหนักเต็นท์เลยก็ได้
แน่นอนว่านักเดินทางสาย Ultralight ที่พยายามค้นคว้าหาวิธีการลดน้ำหนักลงให้เบาลง เค้าก็เห็นเจ้ากราวด์ชีทนี้เป็นที่รำคาญตายิ่งนัก เพราะกราวด์ชีทที่ผลิตและจำหน่ายกันอยู่ทั่วไปนั้นมันมีน้ำหนักมาก ส่วนตัวที่น้ำหนักเบาๆก็ยังราคาแพงมากอีก แต่ครั้นจะเอามันออกจากกระเป๋าเป้ไปก็ไม่ได้ เพราะมันก็จำเป็นต้องมี … แต่ถ้าหากคุณมีอุปกรณ์อื่นที่สามารถเอามาใช้แทนกราวด์ชีทได้ ในคุณภาพที่เท่ากัน น้ำหนักเบากว่า ราคาถูกกว่ากราวด์ชีทที่ผู้ผลิตขายอยู่ละครับ ?
นักเดินป่าสาย ultralight ในต่างประเทศได้ผ่านการค้นหาวัสดุทดแทนนี้มาอย่างยาวนาน จนพบว่าวัสดุที่เอามาใช้แทนกราวด์ชีทได้ดี และมีน้ำหนักเบาจะมีอยู่ 2 ตัว ก็คือ วัสดุที่เรียกว่า Polycryo (โพลีครายโอ) กับ Tyvek (ทายเว็ค)
Polycryo
Tyvek
จริงๆใครแวะมาร้าน Pete & Pual อาจจะเคยเห็นแผ่นพลาสติคที่ดูไปวัสดุไม่แตกต่างกับถุงพลาสติคใส่อาหารที่เราใช้กันอยู่ เจ้าสิ่งนี้จะม้วนวางซ่อนอยู่ในมุมมืดภายในร้าน นับตั้งแต่เปิดร้านมามีไม่กี่คนที่หยิบมาแล้วถามผมว่ามันคืออะไร … สำหรับใครที่ถาม ผมก็จะตอบว่ามันคือ Polycryo ครับ บอกแบบนี้คงไม่มีใครรู้จัก ถ้าผมบอกว่ามันคือพลาสติคที่ใช้ติดเคลือบหน้าต่างกันความเย็นเข้าบ้านละครับ … หลายท่านก็ยังไม่รู้จักอยู่ดี เพราะเจ้าตัวมันนิยมใช้กันในเมืองหนาว ผมไม่แน่ใจว่าบ้านเรามีขายไหม แต่ที่ต่างประเทศเค้าจะใช้เจ้าตัวนี้ในการแปะทับกระจกหน้าต่างบ้านเพื่อเพิ่มคุณสมบัติความเป็นฉนวนภายในบ้าน โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะช่วยกันความเย็นเข้ามาในบ้าน และช่วยกันความร้อนข้างในออกสู่ข้างนอกด้วย ว่ากันว่าการติดเจ้าตัวนี้บนหน้าต่าง จะช่วยลดการใช้พลังงานในบ้านลง ช่วยประหยัดได้มาก … เจ้าตัวนี้ละครับที่เอามาใช้ทำกราวด์ชีทได้
เจ้า polycryo บ้างก็เรียก cross-linked polyolefin นี้เป็นพลาสติคประเภทหนึ่งที่เมื่อโดนความร้อนจะหดตัว เวลาใช้ติดกับกระจกบ้านก็จะใช้ไดฟ์เป่าผมเป่าให้มันร้อน มันก็จะเกาะติดกับกระจกได้ ข้อดีของ Polycryo ในการเอามาทำกราวด์ชีท คือ น้ำหนักเบามากๆครับ เรียกว่าถ้าแผ่นขนาดสำหรับใช้กับเต็นท์ 2 คน น้ำหนักอาจจะไม่ถึง 100g ด้วยซ้ำ ผมยกตัวอย่าง Polycyro ที่แบรนด์เดินป่าเจ้าดังเจ้าหนึ่งในอเมริกาทำขายอยู่ ขนาดแผ่นกว้าง 183 cm ยาว 244 cm ที่ความหนา 0.7mil จะหนักราว 105g เท่านั้น หนาแค่ไหนนั้น ต้องแปลงหน่วยกันก่อน เพราะความหนา 1 mil คือ ความหนา 1/1000 นิ้ว หรือเท้่ากับ 0.025 mm ครับ ถ้าหนา 0.7 mil ก็คือ 0.017mm เรียกว่าบางเฉียบเลยครับ หลายคนอาจจะคิดว่าบางขนาดนี้ ก็เลยเบา และแน่นอนว่าต้องขาดง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถือว่าแจ้าแผ่นนี้มีความคงทนต่อน้ำหนักที่สูงทีเดียวครับ เรียกว่าทนกว่าที่คิดมาก (ถึงจะไม่ทนเท่าผ้ากราวด์ชีทที่ขายกันทั่วไป หรือ Tyvek ก็เถอะ) ซึ่งนอกจากความเบาแล้วเจ้าตัวนี้ยังกันน้ำในระดับที่สูงกว่า กราวด์ชีทผ้าที่ขายกันอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกราวด์ชีทผ้า Silnylon , โพลีเอสเตอร์ และรวมถึง Tyvek ที่เรากำลังจะพูดถึงกันอีกด้วย นอกจากนั้นข้อดีอีกอย่างคือ มันเป็นแผ่นพลาสติคที่ใสครับ มองทะลุได้เลย ทำให้เวลาเราปูลงบนพื้นแล้ว เราเห็นได้เลยว่ามีอะไรอยู่ข้างใต้เราบ้าง ตรงไหนแหลม ตรงไหนต้องระวัง
ตัวอย่างการใช้ Polycryo ทำเป็นปูรองพื้น
หรือจะเอามาประยุกต์ทำทาร์ปก็ได้
ส่วนข้อเสียของมันนั้นก็คือ มันเป็นฟิล์มที่หดตัวเมื่อโดนความร้อน ทำให้เวลาเราเอาไปใช้งานมันจะหดตัวลงอยู่บ้าง กับอีกข้อคือความคงทนต่ำ จากประสบการณ์ที่ตัวผมเองได้เอา Polycryo ความหนา 0.7 mil ไปทดลองใช้มา 10 กว่าวัน ผมพบว่ามีรอยขาดอยู่ 1-2 รู ซึ่งผมก็ถือว่าโอเค เมื่อเทียบกับความเบาที่ได้นะครับ เอากลับมาแล้วผมก็เอาเทปปะไว้ แล้วก็เอาไปใช้ต่อได้ ซึ่งผมแนะนำว่าถ้าต้องการที่คงทนกว่านี้ก็อาจจะลองหาที่หนา 1-2 mil มาใช้ก็ได้ ได้ก็จะได้ความคงทนที่สูงขึ้น แต่ราคาและน้ำหนักที่มากขึ้นตามด้วย
ถ้าใครจะไปหาซื้อพลาสติคซีลกระจกตัวนี้ มักจะไม่ได้เขียนชื่อว่าเป็น polycryo นะครับ ที่เรียกแบบนี้ผมเห็นมีแต่พวกร้านขายอุปกรณ์แค้มปิ้งที่เรียกกัน ถ้าซื้อตามร้านพวกนี้ราคาขายจะค่อนข้างสูงกว่า แต่ก็จะบอกความหนาให้ชัดเจน ในขณะที่ถ้าไปซื้อตามพวกร้านอุปกรณ์ซ่อมแซมตกแต่งบ้าน มันก็จะเขียนว่าเป็น Window/Doow Shrink Film ซึ่งก็คือเป็นฟิล์มหดตัวได้สำหรับติดกระจกหรือประตูนั่นแหละครับ แต่พวกนี้ก็มักจะไม่บอกความหนาไว้ ต้องไปลุ้นเอาเองว่าซื้อมาแล้วจะหนาเท่าไหร่
ลักษณะการใช้งานของ Tyvek จะเป็นตัวติดตรงกลางระหว่างผิวชั้นในกับชั้นนอกของอาคาร
ตัวอย่างการติดกับอาคาร
Tyvek เป็นเทคโนโลยีผ้าที่ไม่ได้มาจากการทอ จากบริษัท Dupont ซึ่งเป็นต้นตำรับผู้คิดค้นผ้าไนลอน Tyvek ผลิตจากโพลีเอธิลีนความเข้มข้นสุง (HDPE) เค้ามักจะเอาไปใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง โดยจะเอาไปใช้ในลักษณะที่เรียกว่า house wrap หรือ หุ้มบ้าน ความหมายคือ จะเอาไปเป็นแผ่นแทรกอยู่ตรงกลางระหว่างวัสดุชั้นในกับชั้นนอกของบ้าน เพื่อใช้ป้องกันความชื้นและอากาศเข้าไป นอกจากนั้นเจ้า Tyvek ยังมีคุณสมบัติที่ช่วยในการระบายไอน้ำออกมาได้ป้องกันการก่อตัวของเชื้อราในกำแพง ช่วยให้งานก่อสร้างมีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น ช่วยทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อน ทำให้บ้านเย็นในหน้าร้อน และอุ่นในหน้าหนาวครับ และด้วยความที่เจ้า Tyvek นี้มันมีน้ำหนักที่เบา กันน้ำได้ ทนต่อการเจาะขาดได้ดี อีกทั้งระบายอากาศได้ ล้างทำความสะอาดได้ ก็เลยมีคนช่างคิด เอามาทดลองทำกราวด์ชีท ซึ่งก็ใช้ได้ดีและมีอายุที่ยาวนานครับ
ถ้าได้ลองจับตัว Tyvek ดูจะพบว่าสัมผัสมันจะคล้ายๆกระดาษครับ แข็งๆ หยาบๆ แต่เฉพาะในช่วงแรกๆ นะครับ พอผ่านการใช้งานไปซักระยะ มันจะค่อยๆ นุ่มขึ้นๆ ให้สัมผัสตอนนอนที่สบายดี ถึงขนาดบางคนเอามาใช้ปูนอนในเต็นท์ก็มี
ตัวอย่างการใช้ Tyvek เป็นแผ่นปูรองพื้นเต็นท์ หรือปูนอนแทนเต็นท์
ถ้าเทียบกันแล้ว Tyvek จะมีน้ำหนักที่มากกว่า Polycryo อยู่พอสมควร ถ้าลองเทียบ Tyvek ที่ขนาด 183 cm ยาว 244 cm ก็จะมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 220 กรัม ในขณะที่ Polycryo หนา 0.7 mil จะหนัก 105g ข้อนี้จะเห็นว่า Polycryo ชนะขาด แต่เมื่อเทียบด้านความทนทานแล้ว Tyvek ก็เหนือกว่า Polycryo ขาดเช่นกันครับ เน้นการใช้งานแบบไหนก็สามารถเลือกเอาได้ สำหรับตัวผมเอง .. มีทั้ง 2 แบบ สลับกันใช้ บางทีเดินทางไกลเน้นน้ำหนักเบาหน่อยก็เอา Polycryo มาใช้ (แต่กลับมาอาจจะต้องปะซ่อมหน่อย) ในขณะที่ Tyvek หนักขึ้นอีกนิด แต่ก็สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการขาดมากนัก
Tyvek เอามาประยุกต์ได้หลายอย่าง จะทำทาร์ปกันฝน หรือแม้แต่ตัดทำเต็นท์ก็ได้
ไม่ว่าจะเป็น Polycryo หรือ Tyvek ก็มีประโยชน์ในการใช้งานทั้งทำกราวด์ชีท หรือทำทาร์ปกันฝนได้ทั้งคู่ครับ ซึ่งเจ้า 2 ตัวนี้จะเป็นทางเลือกที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักเดินทางที่ต้องลดน้ำหนักบรรทุกในการเดินทางลง ถ้าเน้นเบาเป็นหลัก ลองมองดู Polycryo แต่ถ้าอยากได้ทนหน่อย ผมแนะนำ Tyvek มากกว่า เท่าที่ผมเคยค้นหามาผมยังหาทั้ง 2 ตัวนี้ในประเทศไทยไม่เจอเลย … ในเมื่อไม่มีขาย เราก็หามาขายเองก็ได้ ตอนนี้ที่ร้าน Pete & Paul ก็เลยมี Tyvek วางขายอยู่ 3 ขนาด ใหญ่สุด 210 x 85 cm , 210 x 130 cm และใหญ่สุดที่เรามีคือ 210 x 210 cm อยู่ ถ้าสนใจอยากลองมาดูว่ามันเป็นอย่างไร ก็แวะมาที่ร้านได้ครับ ส่วน Polycryo ก็มีให้ลองดูที่ร้านได้ครับ แต่ไม่ได้ขายนะครับ เพราะเป็นของเจ้าของร้านเอาไว้ใช้เอง … ตัวนี้ผมไม่ได้คิดจะเอามาขายนัก โดยส่วนตัวผมว่ามันทนน้อยไปหน่อย แต่ต้องยอมรับว่าผมเคยทดสอบแต่ตัวความหนา 0.7 mil ถ้าหนา 1-2 mil ก็น่าจะมีความทนทานกว่านี้ แต่น้ำหนักก็คงจะมากขึ้นด้วย เช่นกัน
ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ
พีท
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว