การเสื่อมสภาพของเต็นท์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าเต็นท์จะดีหรือแพงแค่ไหน ถึงวันหนึ่งมันก็จะถึงเวลาสิ้นอายุขัยของมัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจากประสบการณ์ของผม ความเสียหายที่มักจะเกิดขึ้นเป็นอย่างแรกกับเต็นท์คือ ซีมซีล (Seam Seal) ด้านในของเต็นท์เกิดการเสื่อมสภาพ หลุดหรือลอกออกมา ซึ่งถ้าเป็นในสภาพการใช้งานในวันปกติที่ไม่มีฝน ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ฝนตกแล้วละก็ น้ำก็จะมีโอกาสสูงที่จะซึมเข้ามาผ่านทาง ซีมซีลที่หลุ่นร่อนได้ครับ
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผมขออธิบายให้ฟังก่อนว่า ซีมซีล (Seam Seal) คืออะไรครับ ถ้าแปลตามตัวแล้ว Seam ก็คือตะเข็บ ส่วน Seal ก็คือการปิดผนึก รวมๆ กันก็จะแปลว่า การปิดผนึกตะเข็บ ครับ แต่คำนี้เรามักจะเรียกกันทับศัพท์แบบติดปากว่า ซีมซีล
ภาพเปรียบเทียบ ระหว่าง การมีซีล กับไม่มีซีล จะเห็นว่าด้านซ้ายมือ ไม่มีซีล น้ำมีโอกาสที่จะซีมผ่านเข้ามาด้านในได้ ในขณะที่ด้านขวาจะมีซีลติดช่วยกันน้ำเข้าได้
ประการแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าจะเป็นเต็นท์ ทาร์ป กราวด์ชีทสำหรับปูรองพื้นเต็นท์ หรือแม้แต่กระเป๋า เสื้อผ้า ล้วนแต่เกิดจากการเย็บติดกันของผ้าหลายๆ ชิ้น หลายๆ ส่วน ตามรอยเย็บติดกันของผ้าเหล่านี้แหละครับ ที่มีโอกาสที่น้ำจะซึมเข้าไปตามรอยเย็บจนน้ำทะลุเข้าไปข้างในได้ ถึงแม้ว่าผ้าที่เราเลือกใช้จะเคลือบกันน้ำมาดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ได้มีการติดเทปกันน้ำ หรือทาสารเคลือบกันน้ำทับบนรอยเย็บ น้ำก็มีโอกาสที่จะซึมเข้ามาได้ … ก็เลยเป็นที่มาของ การทำซีมซีลนี่แหละครับ
โดยปกติการทำซีมซีลจะทำมาจากโรงงานอยู่แล้ว โดยการติดเทปกันน้ำคร่อมตามแนวตะเข็บ ยกเว้นอยู่กรณีหนึ่งที่จะไม่มีการติดเทปมาให้ ก็คือ กรณีที่ผ้ามีการเคลือบซิลิโคนทั้ง 2 ด้านของผ้า โดยคุณสมบัติของผ้าที่เคลือบซิลิโคนจะมีความลื่นค่อนข้างสูง เทปจะไม่สามารถติดได้ ถ้าเป็นกรณีนี้ ผู้ผลิตก็มักจะให้กาวซิลิโคนให้ผู้ใช้เอาไปทาคร่อมแนวตะเข็บเอาเอง บางผู้ผลิตก็รับทำให้ลูกค้าเลย แต่ก็จะมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมถึงต้องบวกเวลาในการส่งของออกไปอีกเป็นอาทิตย์
การทำซีมซีล ไม่จำเป็นต้องทาด้านในเต็นท์อย่างเดียวนะครับ อาจจะทาด้านนอกด้วยก็ได้ เพื่อเสริมความแข็งแรงในการกันน้ำให้เต็นท์ อย่างในรูปนี้ เต็นท์ที่ราคาสูงหน่อยมักจะเคลือบผิวด้านนอกด้วยซิลิโคน ทำให้ต้องใช้กาวซีลแบบที่เป็นสูตรซิลิโคนเหมือนกันในการทา ถึงจะสามารถติดอยู่ได้มั่นคงถาวร ตัวที่ใช้ทาก็คือตัวนี้ครับ Silnet
ทั้งนี้เราสามารถสังเกตุดูว่า อุปกรณ์เดินทางของเราอยู่ในระดับ Waterproof จริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็โดยการดูที่การซีลตะเข็บประกอบครับ ผมเคยเห็นสินค้าหลายตัวที่ใช้คำว่ากันน้ำได้ แต่พอไปดูที่ตะเข็บ กลับไม่มีการซีลไว้ แสดงว่าสินค้าตัวนั้นไม่ใช่ Waterproof จริงๆ ครับ อาจจะกันได้จากสารเคลือบกันน้ำบนผ้า แต่ถ้าเจอน้ำระดับนึง น้ำก็จะซึมเข้าทางตะเข็บได้ ยังไงลองไปสังเกตุดูกันนะครับ เพราะคำว่า Waterproof นั้นถือเป็นระดับการกันน้ำสูงสุด คือน้ำต้องไม่เข้าเลย ผ้าต้องกันน้ำ ถ้ามีซิปก็ต้องกันน้ำ และ ตะเข็บก็ต้องมีการทำซีมซีลไว้ด้วย อย่างนั้นถึงจะเรียกว่า Waterproof จริง
อย่างที่เล่าให้ฟังไปตอนต้นแล้ว ว่า อุปกรณ์ที่มีการซีลไว้ ถึงวันหนึ่งมันก็ต้องสิ้นอายุขัย ตัวซีลมันก็จะหลุดร่อนออกมาได้ โดยเฉพาะแบบที่ติดเทปซีลไว้ พวกนี้จะหลุดร่อนง่ายกว่าแบบที่ใช้กาวซีลทาเอาครับ เมื่อถึงตอนนั้นต้องทำอย่างไร … จะต้องซื้อเต็นท์ใหม่ เลยไหม … เต็นท์ผมราคาหมื่นกว่าต้องซื้อใหม่เลยเหรอ ใจเย็นๆ ครับ ผมจะบอกว่าพวกนี้มันซ่อมได้ มีเทปซีลขายกันม้วนละร้อยกว่าบาท แต่พวกนี้อายุการใช้งานจะไม่ยาวนานมากนัก ผมแนะนำเป็นใช้กาวซีลทาจะทนทานมากกว่า ลองมาดูว่าทำยังไงครับ
ตัวอย่างเทปซีล ที่ใช้ในการติดคร่อมแนวตะเข็บ จะใช้ความร้อนในการรีดให้เทปติดกับผ้า ข้อเสียคือ มีโอกาสที่ความร้อนจะไปทำอันตรายกับผ้าได้ และอายุการใช้งานซีลแบบเทปมักจะสั้นกว่าแบบกาว
การทำซีมซีลทำไม่ยากครับ ซึ่งผมกำลังจะเล่าให้ฟังว่าทำอย่างไร แต่ก่อนจะลงมือทำ ต้องเตรียมของก่อน สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนทำ ซีมซีล ก็คือ
ภาพแสดงลักษณะของเทปซีลที่เสื่อมสภาพจนหลุดร่อนออกมา
ลอกเทปซีลเดิมที่เสื่อมสภาพออก เราจะไม่ทาทับของเดิมนะครับ เพราะถ้าทาทับไปมันจะอยู่ได้ไม่นาน ก็หลุดร่อนออก คิดง่ายๆ เหมือนทาสีบ้าน ทับของเก่าไป ยังไงของเก่ามันเสื่อมสภาพ มันก็จะพาเอาของใหม่ที่ทาทับไปหลุดออกมา … เพราะฉะนั้น ต้องลอกของเดิมออกก่อนครับ
หลังจากที่ลอกออกมาแล้ว ก็เอาผ้าชุบแอลกอฮอล์ทำความสะอาด เช็ดที่ผิวให้สะอาด
ถ้าต้องการความสวยงามในการทาก็ สามารถใช้กระดาษกาว (เอาแบบที่ไม่ต้องเหนียวมากนะครับ) ติดเป็นกรอบการทาไว้ เพื่อให้รอยซีลที่เราจะทา เป็นแนวเดียวกัน แลดูสวยงาม
เพื่อป้องกันกาวติดมือ แนะนำให้สวมถุงมือ แล้วบีบหลอดทากาวซีลลงไปบนพื้นผิวที่ต้องการ แล้วเอาแปรงปาด ไม่ต้องทาหนามากนะครับ ให้เป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ก็พอ แต่ให้ทาคร่อมแนวตะเข็บออกมาข้างละประมาณ 0.5 cm หลังจากนั้นทิ้งไว้ซักระยะหนึ่ง ให้ตัวกาวเริ่มอยู่ตัวได้ แล้วค่อยลอกเทปที่ติดกันเลอะด้านข้างออก อย่าทิ้งไว้นานเกินนะครับ เดี๋ยวมันแห้งก่อนแล้วจะแกะไม่ออก ถ้าเป็น Seam Grip ก็ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็ดึงเทปออกได้ แต่ถ้าเป็นแบบ Seam Sure จะแห้งไวกว่า ก็อาจจะราว 30-40 นาทีก็พอ
หลังจากนั้นก็ทิ้งไว้ให้แห้ง ตามระยะเวลาที่กาวซีลแต่ละตัวกำหนด ถ้าเป็น Seam Grip ก็ 8-12 ชั่วโมง ในขณะที่ Seam Sure จะแห้งไวกว่า ใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดเวลา อุปกรณ์ของคุณก็จะมีตะเข็บที่กันน้ำได้ดีเหมือนของใหม่เลยค
จะเห็นว่าวิธีการทำซีมซีลไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นเต็นท์ใหม่ที่ต้องการทาเสริมการกันน้ำที่ด้านนอกเต็นท์ ก็ใช้วิธีการเดียวกัน ก็คือทำความสะอาด ทา แล้วก็ปล่อยไว้ให้แห้ง
ที่ร้าน Pete & Paul ไม่ได้สนับสนุนให้ซื้ออุปกรณ์ใหม่อยู่เสมอนะครับ อะไรใช้ได้ ซ่อมได้ เราก็แนะนำให้ซ่อมใช้ต่อ ที่ร้านมีอุปกรณ์สำหรับทำซีมซีลของ Gear Aid ประเทศอเมริกา อยู่ 3 ตัว ให้เลือกตามลักษณะวัสดุ และการใช้งาน โดยทั้ง 3 ตัวนี้ผลิตในประเทศอเมริกาครับ แต่ละตัวก็จะมีความเหมาะสมในลักษณะการใช้งานที่ต่างกัน ถ้าให้สรุปคุณสมบัติย่อๆ ก็จะได้ตามนี้
สูตรยูรีเทน แบบน้ำ เพราะเป็นแบบน้ำจึงใช้ซีลได้ปริมาณพื้นที่มากกว่า แห้งเร็วใน 4 ชั่วโมง
สูตรยูรีเทน เนื้อแบบกาว นอกจากซีลแล้ว ใช้ซ่อมรอยขาย รอยรั่ว ได้สารพัด ทั้งแผ่นรองนอนรั่ว รองเท้าขาด ก็ใช้ได้ ระยะเวลาแห้งอยู่ที่ราว 8-12 ชั่วโมง
สูตรซิลิโคน เหมาะใช้กับผ้าที่มีส่วนผสมของซิลิโคน ระยะเวลาแห้งอยู่ที่ราว 8-12 ชั่วโมง
ถ้าอ่านแล้วงงสงสัย ไม่รู้ว่าจะใช้แบบไหนดี ลองมาปรึกษาเราที่ร้านก็ได้ครับ เรามีทีมงานที่มีความรู้ พร้อมให้คำปรึกษา แต่เบื้องต้นผู้ใช้ต้องรู้ก่อนว่า ผ้าที่จะเอาไปทำนั้นมีการเคลือบซิลิโคนไหม ถ้าเคลือบก็ใช้ Seam Grip SIL ถ้าไม่เคลือบก็ใช้ Seam Grip WP หรือ Seam Grip FC ถ้าทำไม่เยอะ ผมแนะนำเอา Seam Grip WP เผื่อเหลือเอาไปซ่อมอย่างอื่น แต่ถ้าต้องการซีลพื้นที่มากหน่อยก็แนะนำ Seam Grip FC ครับจะทาได้พื้นที่มากกว่า
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว