สวัสดีครับ เพี่อนๆ ผู้มีใจรักในการเดินทาง ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 1 ปี ก่อน ผมได้เขียนบทความเรื่อง เลือกซื้อถุงนอนอย่างไรดี ตอนที่ 1 ในชื่อตอนว่า “รู้จักกับถุงนอนกันก่อนซื้อ” ซึ่งในบทความนั้นผมได้บรรยายส่วนประกอบที่สำคัญของถุงนอนไป พร้อมกับลักษณะการทำงานของถุงนอนในการเก็บความร้อน … ผ่านวันเวลาไปเนิ่นนาน ณ วันนี้ก็น่าจะครบ 1 ปี แล้ว ตอนที่ 2 ก็ยังไม่ออกมา … ก็ต้องเรียนด้วยความจริงใจ ว่าผมลืมไปเสียสนิทเลยครับว่าผมยังไม่ได้เขียนต่อ ถึงแม้ว่าผมจะค่อนข้างมั่นใจว่าทุกคนคนที่ได้อ่านตอน 1 ไป ป่านนี้คงซื้อถุงนอนกันไปหมดแล้ว แต่อย่างไรเสียผมก็จะมาเขียนต่อให้จบครับ
เล่าให้ฟังก่อนว่า โดยปกติผมจะสอบถามข้อมูลลักษณะการใช้งานของลูกค้าก่อน เพื่อช่วยแนะนำถุงนอนที่เหมาะกับการใช้งานให้ ที่นี้พอถามความต้องการว่าลูกค้าตั้งใจจะเอาไปใช้งานที่อุณหภูมิเท่าไหร่ ? เกือบทุกคนที่เน้นใช้งานในประเทศไทย ก็จะตอบว่า อยากได้ถุงนอนที่นอนได้ในระดับอุณหภูมิเลขตัวเดียว โดยน้ำหนักเบา (ราว 500-700 กรัม) และราคาถูก … ซึ่งผมก็ตอบได้โดยไม่ต้องคิดเลยว่า … มันไม่มีหรอกครับ
ถ้าอุ่นและเบา วัสดุฟิลข้างในก็ต้องสามารถพองตัวได้มาก เพื่อเก็บความร้อนไว้ข้างใน ซึ่งวัสดุพวกนั้น ราคาแพงแน่นอน แต่พอเลือกโดยเน้นเบา และราคาถูก มันก็ไม่อุ่นถึงขนาดอุณหภูมิเลขตัวเดียวสิครับ ถ้าน้ำหนักราว 500-600 กรัมแล้วเป็นใยสังเคราะห์ราคาไม่แพง เต็มที่ก็คงได้ซัก 15-20 องศา พวกนี้เป็นข้อเท็จจริง เป็นศาสตร์ที่ผ่านการคิดคำนวณด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ซึ่งไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็ต้องให้ข้อมูลกันพอสมควร สุดท้ายเกือบทั้งหมดของลูกค้าจะไปจบกันที่ถุงนอนที่ราคาถูกแทน ได้อุณหภูมิเท่าไหร่ก็เท่านั้น แล้วไปหาเสื้อผ้าหนาๆใส่เอา กะมาซื้อแบบเอาไปนอนได้ 5 °C แต่สุดท้ายได้ 20 °C ก็ยังโอเค พอทนๆ หนาวไปได้ … แต่โดยความหมายแล้ว ถ้าคุณมองหาถุงนอนสำหรับนอนที่ 5องศา ถุงนอนนั้นต้องทำให้คุณนอนหลับได้อุ่นสบาย โดยไม่รู้สึกตัวตื่นตอนกลางคืนจากความเย็นเลย ซึ่งแน่นอนว่าตัว 20 °C ก็คงจะตอบโจทย์ไม่ได้ คุณอาจจะต้องนอนขด ตื่นเป็นระยะๆ บิดไปบิดมาก็ได้ครับ… เพราะฉะนั้นก่อนเลือกซื้อถุงนอน ควรจะพิจารณาความต้องการและงบประมาณของตัวเองให้ดีก่อนครับ อย่าลืมว่าคุณภาพกับราคา… มันเป็นสิ่งที่ไปทางเดียวกัน
ถ้ามีเงินพอ แนะนำว่าถุงนอนดาวน์ พวกขนเป็ด ขนห่าน จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะว่าอุ่น และน้ำหนักเบา ยกเว้นแต่ว่า ผู้ใช้มีโอกาสจะเอาไปใช้ในสภาพอากาศที่เปียกชื้น ซึ่งพวกดาวน์จะค่อนข้างแพ้ความชื้น เพราะจะทำให้คุณสมบัติในการเก็บความร้อนลดลง หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเลือกใช้ถุงนอนดาวน์ที่ผลิตจากเชลล์ชั้นนอกที่กันน้ำและระบายอากาศได้ครับ
แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่เพิ่งเริ่มออกตั้งแคมป์ เพิ่งเริ่มเดินป่า มีงบประมาณจำกัด และหรือจะเอาถุงนอนใช้ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ผมแนะนำให้เลือกถุงนอนที่เป็นใยสังเคราะห์ก่อน ถุงนอนใยสังเคราะห์จะมีน้ำหนักมากกว่า ราคาถูกกว่า มีปัญหากับความชื้นน้อยกว่าพวกดาวน์ครับ … ประการสำคัญคือ ราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินว่าจะเลือกถุงนอนอันไหนนะครับ โดยทั่วไปถุงนอนที่ถูกก็มักจะมีแนวโน้มสูงที่งานจะไม่ปราณีต ให้ค่าความอบอุ่นได้ต่ำกว่า และทนทานน้อยกว่า
สิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกซื้อถุงนอนมีอะไรบ้าง ผมขอแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักๆ ตามนี้ครับ
1 อุณหภูมิ คือเลือกซื้อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่จะเอาไปใช้งาน ถุงนอนจะมีกำหนดเป็นเรทไว้ว่าเหมาะกับการใช้งานที่อุณหภูมิเท่าไหร่ เราคงเคยเห็นที่เขียนไว้ที่ถุงนอน comfort level เช่น Comfort , Limit , Extreme หรือบ้างก็บอกเป็น Season (ฤดูที่ใช้งานได้)
2 ค่าความเป็นฉนวน กำหนดโดยวัสดุที่เรียกว่า ฟิลเลอร์ (Filler) หรือก็คือไส้ยัดข้างในที่อยู่ในถุงนอน ที่ใช้กันก็มักจะเป็นพวก ใยสังเคราะห์ หรือ ดาวน์ (Down) เช่น ขนเป็ด ขนห่าน หรืออาจจะใช้ทั้งใยสังเคราะห์ กับดาวน์ผสมกัน ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบได้เขียนเล่าไว้ใน ตอนแรกแล้วนะครับ
3 น้ำหนักและ รูปร่าง สำหรับนักเดินทางแบบแบกเป้ ไม่ว่าจะเดินทางท่องเที่ยวทั่วไป หรือเดินป่า น้ำหนักก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคุณจะต้องแบกมันไว้บนเป้เดินเป็นวันๆ ถ้าหากคุณต้องการถุงนอนที่มีพื้นที่กว้างก็จะนอนสบาย ยืดแข็งขาได้สะดวกกว่าแต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักที่มากตามไปด้วย
4 คุณสมบัติอื่นๆที่อยากให้มี ข้อนี้ให้มองว่าเป็นส่วนเสริมอื่นๆที่ทำให้ถุงนอนเหมาะกับคุณยิ่งขึ้น เช่น มีช่องใส่มือถือ , รูปทรงฮูดคลุมหัว ลักษณะซิปทำให้ถุงนอนเอามาต่อกันได้ เป็นต้นครับ
ที่นี่เราลองมาดูรายละเอียดในแต่ละข้อกันนะครับ
ในความเห็นผมน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเลือกซื้อถุงนอน เนื่องจาก สภาพภูมิอากาศที่จะเอาถุงนอนไปใช้ จะเป็นตัวกำหนดความอุ่นของถุงนอน ซึ่งจะมีผลต่อน้ำหนัก และค่าความเป็นฉนวนของถุงนอน ในข้ออื่นๆ ด้วย ในบางกรณีอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ถุงนอนถุงเดียว แต่สามารถใช้ถุงนอนซ้อนกัน 2 ชั้นก็ได้ โดยอาจจะเพิ่มไลเนอร์ (Liner) เข้าไปอีกชั้นก็ได้
ถุงสีน้ำเงินเข้มที่ใส่อยู่ขัางในถุงนอน นั่นละครับ Liner
ไลเนอร์เป็นลักษณะเหมือนถุงนอนแบบบาง สำหรับใส่เป็นชั้นแรกก่อนที่จะใส่ถุงนอนซ้อนเข้าไปอีกชั้น เพื่อประโยชน์ในเรื่องของการรักษาความสะอาดของถุงนอน ซึ่งปกติเวลาที่เราเดินทางมา มักจะมีเหงื่อ มีไขมันจากร่างกายสะสมอยู่ตามผิวหนัง พวกนี้จะมีส่วนที่ทำให้ถุงนอนสกปรก มีกลิ่น ทำให้ต้องซัก พอซักมากๆเข้าก็จะส่งผลให้อายุการใช้งานของถุงนอนลดลง แต่เมื่อเราใส่ไลเนอร์แล้ว ตัวทีสกปรกก็จะเป็นไลเนอร์แทน เราก็แค่ซักไลเนอร์ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับถุงนอนครับ นอกจากนั้นไลเนอร์ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการรักษาความอบอุ่นให้มากยิ่งขึ้น คิดง่ายๆ เหมือนใส่เสื้อ 2 ชั้นก็ย่อมจะอุ่นกว่าใส่เสื้อชั้นเดียวนั่นแหละครับ
ไลเนอร์มีหลายแบบ บ้างก็ทำจากผ้าฝ้าย สำหรับใช้ในที่อากาศไม่เย็นนัก บ้างก็ทำจากผ้าใยสังเคราะห์ ไลเนอร์บางตัว ออกแบบมาใช้ในที่อากาศเย็น เมื่อเอามาใช้คู๋กับถุงนอน ก็อาจจจะช่วยให้ผู้ใช้อุ่นขึ้นไดัอีก 4-8 °C เลยก็ได้
ในบางครั้ง การซื้อถุงนอนสำหรับนอน -6 °C เราอาจจะมีโอกาสใช้ไม่มากนัก แต่ถ้าลองพิจารณาเป็น ถุงนอน 1 °C แล้วก็เอาไลเนอร์ไปใช้คู่กัน ก็จะเพิ่มโอกาสในการใช้ได้มากขึ้นครับ
สิ่งหนึ่งที่จะบอกเราได้ว่า ถุงนอนนี้เหมาะกับการนำไปใช้งานที่อุณหภูมิเท่าไหร่ ก็คือ ค่าที่เรียกว่า Temperature Rating บ้างก็เรียก Comfort Level หรือ เรทติ้งอุณหภูมิซึ่งจะมีการกำหนดไว้ที่ซองใส่ถุงนอน ในขณะที่ถุงนอนบางค่ายก็ก็จะบอกเป็นค่า ฤดูที่เหมาะแก่การเอาไปใช้
ลองมาดูแบบที่บอกเป็นฤดูก่อน เราคงเคยได้ยิน พวกอุปกรณ์หลายๆ อย่างที่บอกคุณสมบัติเป็นฤดู (Season) เช่น เต็นท์ 3 ฤดู แผ่นรองนอน 4 ฤดู เป็นต้น ถุงนอนก็บอกคุณสมบัติแบบเดียวกันได้ครับ แล้วเค้าแบ่งกันยังไงละ เนื่องจากในต่างประเทศทางอเมริกา ยุโรป จะมี 4 ฤดู ไล่ตามลำดับก็คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว แล้วก็จะวนกลับมาฤดูใบไม้ผลิอีก สภาพอากาศแต่ละฤดูก็จะแตกต่างกัน โดยทั่วไปจะแบ่งตามนี้
อย่างไรก็ตามการกำหนดแบบข้างต้นนั้น บอกได้ยาก เพราะ แต่ละประเทศอุณหภูมิในแต่ละฤดูก็แตกต่างกัน บางประเทศฤดูหนาวแค่ 0 °C แต่บางประเภทก็ -20°C ดังนั้นการพิจารณาแต่ฤดูอย่างเดียว คงไม่เหมาะนัก ยังไงเราดูเรทอุณหภูมิเอาจะชัดเจนกว่าครับ
แล้วถุงนอนบอกเรทติ้งอุณหภูมิกันอย่างไร ? ถ้าลองไปตามร้านแล้วหยิบถุงนอนมาดู สังเกตุดูอาจจะเคยเห็นมีคำว่า EN tested ติดที่ถุงนอนบางตัว ซึ่งอันนี้มันคือมาตรฐานการทดสอบของยุโรปที่เรียกว่า European Norm (EN) 13537 ถุงนอนส่วนใหญ่มักจะใช้ค่าการทดสอบนี้กัน โดยในการทดสอบนี้ จะแบ่งมาตรฐานอุณหภูมิออกเป็น 4 ส่วนคือ
ตัวอย่างเรทอุณหภูมิของถุงนอน ตามมาตรฐาน EN13537 จะเห็นว่า มีเครื่องหมายแสดงเพศกำกับอุณหภูมิอยู่ด้วย
โดยทั่วไป ค่า Comfort กับ Lower Limt นี้ก็จะต่างกันราว 5-10 °C ซึ่งบ่งบอกว่าโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะนอนได้สบายในอุณหภูมิที่สูงกว่าผู้ชาย พูดง่ายๆ คือ ผู้หญิงจะขี้หนาวกว่าผู้ชายครับ จึงไม่ควรอ้างอิงที่ค่าเดียวกัน
โดยสมมุติฐานที่ใช้กับมาตรฐาน EN 13537 นี้ก็คือ ผู้หญิมาตรฐาน คือ อายุ 25ปี สูง 160 cm และหนัก 60 kg ในขณะที่ผู้ชายมาตรฐานคือ อายุ 25 ปี สุง 173 cm และหนัก 73 kg นอกจากนั้นผู้ทดสอบยังต้องนอนบนแผ่นรองนอนที่เป็นฉนวน และอยู่ในเต็นท์ ในขณะที่ร่างกายสวมใส่เสื้อ thermal พวก เบสเลเยอร์ด้วย
ซึ่งจะเห็นว่าการใช้งานจริง มันไม่ได้ใส่เสื้อผ้ากันตายตัวแบบในสมมุติฐานของการทดสอบ บางคนใส่เสื้อ 2 ชั้น บางคนไม่มีแผ่นรองนอน เพราะฉะนั้นเรทติ้งอุณหภูมิพวกนี้มันแกว่งไปมาได้เยอะครับ เป็นเพียงค่าเอาไว้อ้างอิงในการเลือกเท่านั้น
อีกตัวอย่างของเรทอุณหภูมิของถุงนอน ตามมาตรฐาน EN13537 ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า ถุงนอนรุ่นนี้ผู้หญิงจะใช้สบายที่ -3 °C ในขณะที่ผู้ชายจะอยู่ที่ -10°C
แต่อย่างไรก็ตามถุงนอนบางตัวก็ไม่ได้ทดสอบตามมาตรฐานยุโรปข้างต้นนะครับ พวกนี้ก็จะไม่มีคำว่า EN13537 กำกับอยู่ เพราะฉะนั้นวิธีการคิดค่าอุณหภูมิก็อาจจะแตกต่างกับตามมาตรฐานอยุ่ ส่วนจะทดสอบแบบไหนนั้น คงต้องไปหารายละเอียดการทดสอบของแต่ละยี่ห้อดูประกอบเอาครับ
ค่าอุณหภูมิที่เขียนมาบนถุงนอนนั้นเป็นเพียงแนวทางในการเลือกซื้อเท่านั้น เพราะแต่ละคนก็นอนสบายที่อุณหภูมิแตกต่างกัน ผมแนะนำให้ผู้ใช้ตัดสินใจเพิ่มเติมเองด้วยว่าแบบไหนที่เหมาะกับตัวคุณ เช่นบางที่สภาพอากาศอาจจะไม่หนาวมาก แต่มีลมแรง มีความชื้นสูง หรืออาจจะมีฝนตก ประกอบกางเต็นท์นอนบนพื้นดิน ก็ควรจะต้องคิดเผื่อว่ามันจะหนาวกว่านั้น ค่า Comfort level ของถุงนอนที่เลือกก็ควรจะต้องต่ำกว่าปกติครับ
โดยสรุปนะครับ การเลือกซื้อถุงนอนในข้อแรกให้ดู อุณหภูมิที่จะเอาไปใช้งานเป็นหลัก คิดคำนวณเผื่อปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้เย็นขึ้นด้วย โดยให้พิจารณาจากค่า Comfort level เป็นหลัก เพราะคืออุณหภูมิที่ถุงนอนนี้จะนอนได้อย่างสบาย
เนื่องจากสภาพความชินกับอากาสหนาวของคนไทย จะน้อยกว่าฝรั่ง หรือคนที่อยู่ในที่อากาศเย็นมานาน ส่วนใหญ่เวลาผมซื้อถุงนอน ผมมักจะดูแต่ค่า Comfort Level เป็นหลัก โดยไม่ได้สนใจเรื่องเพศมากนัก และมักจะเผื่อค่าไปอีกราว 5-10 °C ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอาไปใช้ที่อากาศอุณหภูมิ 15°C เวลาซื้อผมมักจะซื้อถุงนอนที่ค่า Comfort 10 °C หรือ 5 °C เป็นต้น
ถุงนอนบางยี่ห้อ จะใช้เลขเรทติ้งอุณหภูมิเป็นชื่อรุ่นไปในตัวครับ เพื่อให้คนเข้าใจง่าย แต่เราต้องดูเรทอุณหภูมิให้ดีประกอบด้วยนะครับ เพราะเลขที่เห็น อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดกันเสมอไป เช่น Deuter Orbit 5+ หลายๆคนจะเข้าใจว่า 5 °C คือค่า Comfort แต่จริงๆ แล้ว Comfort คือ 9 °C ต่างหาก ส่วน 5 °C คือ comfort limit ครับ ความหมายก็คือ ถ้าคุณเป็นผู้หญิงหรือคนที่ทนหนาวไม่ค่อยได้ ถุงนอนนี้จะเหมาะใช้ที่ 9 °C แต่ถ้าเป็นผู้ชายหรือเป็นคนทนทานต่อความหนาวหน่อย ก็จะเหมาะใช้ที่ 5 °C
ค่าความเป็นฉนวนของถุงนอนจะขึ้นอยู่กับ ฟิล (fill) หรือพูดง่ายๆ ก็คืออะไรก็ตามที่ยัดอยู่ในถุงนอนนั่นแหละครับ ถุงนอนจะอุ่นไม่อุ่นขึ้นกับเจ้าตัวนี้แหละ เพราะมันจะทำหน้าที่ในการลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายขณะที่เรานอน
ปกติแล้วตัวฉนวนความร้อนที่ใช้กันโดยทั่วไปจะมี 2 ตัวคือ ดาวน์ (Down) (หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นขนเป็ด ขนห่าน) กับ ใยสังเคราะห์ (synthetic) แต่ละตัวก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน คราวที่แล้วผมเขียนไปในตอนแรกแล้ว แต่ในที่นี้ขอสรุปสั้นอีกครั้งนะครับ
ดาวน์ถ้าเปียกน้ำจะกลายเป็นก้อน ซึง่ทำให้สูญเสียคุณสมบัติในการเก็บความร้อน นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมถุงนอนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีส่วนผสมของดาวน์ที่มีการปรับปรุงให้สามารถกันน้ำได้ โดยจะเรียกว่า hydrophobic down ผลการทดสอบพบว่า ดาวน์ที่ปรับปรุงให้กันน้ำได้นี้จะแห้งเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาไปแช่ในน้ำ หรือโดนฝนหนักๆ แม้แต่ดาวน์ประเภทนี้ก็เปียกน้ำได้ เพราะยังไงก็ตามก็เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติให้ทนน้ำมากขึ้น ไม่ใช่กันน้ำได้เลย
โดยทั่วไปแล้วขนห่านจะถือเป็นสุดยอดของดาวน์ มีค่าฟิลพาวเวอร์ที่สูงได้ถึง 900 (ความหมายของค่าฟิลพาวเวอร์เขียนไว้ใน ตอนที่ 1 นะครับ) ในขณะที่ขนเป็ดมักจะเป็นตัวเลือกสำหรับเสื้อแจ็คเก็ตและถุงนอน ส่วนใหญ่แล้วขนเป็ดมักจะมาจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็ดมักจะเอามาทำอาหารมากกว่า ก็เลยเป็นเหตุให้ขนเป็ดมีใช้กันแพร่หลายกว่า และราคาถูกกว่า
นอกจากนั้นบางครั้งจะมีการผสมกับระหว่างไยสังเคราะห์กับดาวน์ โดยจะมีคุณสมบัติเด่นของวัสดุทั้งคู่ ช่วยอุดจุดด้อยของวัสดุแต่ละตัว บางทีก็ผสมกันไปเลย หรือบางทีก็แยกส่วนกัน เช่น ด้านล่างจะเป็นไยสังเคราะห์เพราะทนกว่า ส่วนด้านบนใช้เป็นดาวน์ เป็นต้น
ปกติถุงนอนที่เรามักจะเห็นกันก็จะมีหลายรูปทรง ที่ใช้กันบ่อยๆ ก็จะเป็นทรงมัมมี่ ที่ลีบตรงส่วนปลายขา แบบทรงสี่เหลี่ยม แบบทรงรี แบบมีซิปแยกขาเดินไปมาได้ด้วย ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ แต่ไม่ว่าถุงนอนจะมีรูปทรงแบบไหน พึงระลึกไว้ว่า ยิ่งมีที่ว่างในถุงนอนมากเกินไปจะทำให้รักษาความอบอุ่นได้ยากกว่า แต่ถ้าถุงนอนแคบเกินไปเราก็อาจจะนอนแล้วอึดอัดได้ครับ อันนี้ผู้ใช้ต้องไปจัดลำดับความสำคัญของตัวเองเองแล้วครับ
สำหรับคนที่เน้นเบา และความอุ่น แนะนำให้เลือกถุงนอนทรงมัมมี่ ที่มีส่วนรัดโอบรอบที่บริเวณไหล่ได้ เพื่อเก็บรักษาความร้อนในถุงนอน อย่างไรก็ตามถุงนอนแบบนี้จะนอนได้สบายน้อยกว่าถุงนอนขนาดใหญ่
สำหรับคนที่เน้นความสบาย และยอมเลกกับขนาดและน้ำหนักที่มากขึ้น ให้ลองดูถุงนอนทรงมัมมี่ที่ที่มีส่วนไหล่และเอวกว้างขึ้น หรือ อาจจะเลือกเป็นถุงนอนทรงสี่เหลี่ยม โดยเฉพาะคนที่ตัวใหญ่ หรือ นอนขยับไปมาบ่อยๆ
ถุงนอนสำหรับผู้ใหญ่มักจะมี 2 ขนาด คือขนาด ปกติ (Regular) หรือ แบบยาว (long ) บางทีเราก็อาจจะเจอถุงนอนแบบสั้น หรือยาวกว่าขนาดปกติ ขนาดนี้ขึ้นกับเพศและผู้ผลิต วิธีการเลือกที่ดีที่สุดคือให้พิจารณาดูสเป็คของถุงนอนว่า รองรับผู้นอนที่ความสูงเท่าไหร่ ถ้าถุงนอนยาวมากเกินไปอาจจะทำให้รู้สึกเย็นที่เท้าได้ครับ
ถุงนอนสำหรับผู้หญิง จะถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับสรีระของผู้หญิง เมื่อเทียบกับถุงนอนของผู้ชายแล้วจะสั้นกว่า ช่วงไหล่จะแคบกว่า และจะกว้างออกที่ช่วงสะโพก บ่อยครั้งที่มีการเพิ่มฉนวนพิเศษที่ส่วนร่างกายท่อนบนและบริเวณเท้า ทั้งนี้ผู้หญิงที่ตัวเล็กมากก็อาจะสามารถใช้ถุงนอนสำหรับเด็กได้
ข้อนี้คือมีคุณสมบัติอื่นใดที่ต้องการให้ถุงนอนมีหรือไม่ ? ซึ่งข้อนี้ผมขอยกกลับไปถึงความรู้เรื่องส่วนประกอบของถุงนอนในตอนที่ 1 ซึ่งว่าด้วยเรื่องส่วนประกอบของถุงนอนนะครับ ลองไปย้อนอ่านตรงนั้นดู ตัวอย่างเช่น บางท่านอยากให้ถุงนอนมี Draft Tube เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ในสภาพที่อากาศหนาวเย็น ตัว Draft Tube จะช่วยกันอากาศร้อนออกจากถุงนอนที่บริเวณช่วงไหล่ได้ หรือ บางคนต้องการให้ถุงนอนสามารถปลดซิป เผื่อแผ่เป็นผ้าห่มออกได้ หรือบางคนต้องการให้ถุงนอนเอาไปประกบกันเป็นถุงนอนแบบคู่ได้ครับ
ข้อนี้ค่อนข้างกว้าง เพราะฉะนั้น ผมก็ขอทิ้งให้ผู้ใช้ไปพิจารณาความต้องการของตัวเองให้ดีก่อนซื้อครับ
ตัวอย่าง ถุงนอนที่ออกแบบมาสำหรับนอน 2 คน และสามารถใส่แผ่นรองนอนแบบ 2 คนเข้าไปยึดกับด้านล่างของถุงนอนได้เลย หรือ จะแยกใส่แผ่นรองนอน แบบเดี่ยว 2 อันก็ได้
ตัวอย่างถุงนอนที่ปลดซิปได้รอบ สามารถใช้ในลักษณะผ้าห่มได้
คำถามนี้เป็นคำถามยอดนิยมเลยทีเดียวครับ ถ้าให้สรุปสั้นๆ ก็จะตอบว่า ถ้าจะนอนให้อุ่นสบาย ก็จำเป็นต้องมีครับ สาเหตุเพราะ … มันทำหน้าที่คนละอย่างกัน
ถ้าใครอ่านตอนแรกมา ก็จะเห็นว่าถุงนอนจะทำหน้าที่เก็บความร้อนที่แผ่ออกมาจากร่างกายผู้นอนไว้ข้างใน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายผู้นอนภายในถุงนอน ซึ่งมันจะทำหน้าที่นี้ได้ ก็มาจากความสามารถของเส้นใยที่กักอากาศร้อนไว้ด้านใน แต่ถ้าเราลองนึกภาพเวลาเรานอนในถุงนอนดู จะเห็นว่าส่วนที่อยู่ด้านล่างจะถูกน้ำหนักตัวผู้นอนกดทับให้แบนลง แน่นอนว่าพอถุงนอนขาดความพองฟู มันก็ไม่สามารถที่จะเก็บความร้อนที่บริเวณหลังเราตอนนอนได้ ความร้อนจากร่างกายเราก็จะถ่ายลงไปที่พื้นดินซึ่งมีอุณภูมิต่ำกว่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกเย็นหลังตอนนอน โดยเฉพาะตอนดึกๆ ที่พื้นดินเย็นมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีแผ่นรองนอนครับ เพราะแผ่นรองนอนจะมีคุณสมบัติความเป็นฉนวนเพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากร่างกายลงไปที่พื้นดินได้
เราจะเห็นว่าการเลือกซื้อถุงนอนนั้น หลักๆ คือให้ดูความต้องการของผู้ใช้เสียก่อนว่า ต้องการจะเอาถุงนอนตัวนี้ไปใช้ที่อากาศเย็นกี่องศาก่อน แล้วจึงค่อยมาดูรายละเอียดอื่นๆ เช่น วัสดุฟิลว่า ต้องการใยสังเคราะห์ หรือดาวน์ … รูปทรง ทรงมัมมี่ หรือ ทรงสี่เหลี่ยม จำไว้ว่า ยิ่งถุงนอนพอดีตัวมากแค่ไหนก็ยิ่งอุ่นเท่านั้นครับ … อย่าลืมพิจารณาประกอบกับงบประมาณที่มีด้วยนะครับ
ย้ำว่า ถุงนอนที่อุ่น เล็ก และเบา นั้นมีจริงๆ … แต่จะไม่มีราคาถูกแน่นอนครับ
ที่ร้าน Pete & Paul มีถุงนอนอยุ่หลายเรทติ้งอุณหภมูิ ตั้งแต่ 20°C ไปจนถึง – 18°C เรามีทั้งทรงมัมมี่สำหรับคนที่ต้องการความอุ่นเป็นหลัก และทรงสี่เหลี่ยมสำหรับคนที่ต้องการความสบายในการนอน ผ้าห่ม ไลเนอร์ เรามีทุกตัวครับ สามารถกดดูรายละเอียดสินค้าได้ ที่นี่ แต่ถ้าไม่แน่ใจในลักษณะการใช้งาน เลือกไม่ถูก ก็สามารถติดต่อสอบถามมาที่ร้านเพื่อขอรับคำแนะนำก็ได้
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว