เมื่อคราวที่แล้ว ผมเขียนเล่าเรื่อง Ultralight ให้ฟังกันไปแล้วนะครับ ความหมายของมันคืออะไร ? แบ่งย่อยเป็นอะไรบ้าง ? และทำไมเราถึงมีความจำเป็นทีต้องลดน้ำหนักลง … แล้วก็ทิ้งท้ายไว้ในบทความก่อนว่าจะมาเขียนวิธีการลดน้ำหนักสัมภาระให้ โดยที่เราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่เลย ซึ่งถ้าทำตามนี้แล้ว ต่อให้น้ำหนักยังไม่ลดลงถึงจุดที่ต้องการ ก็มั่นใจได้ว่ายังไงน้ำหนักมันต้องลดลงกว่าเดิมแน่นอน … แต่ถ้าท้ายที่สุดทำตามนี้แล้ว ยังรู้สึกว่าน้ำหนักในเป้ยังมากอยู่ ก็ค่อยลองหาซื้ออุปกรณ์ใหม่ก็ยังไม่สายครับ
เครื่องชั่งน้ำหนักเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับนักเดินทางสาย Ultralight ที่เน้นน้ำหนักเบา เพราะถ้าไม่มีเครื่องชั่ง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อุปกรณ์อะไรหนักเท่าไหร่ ยัดใส่เป้สะพายหลังแล้ว ได้น้ำหนักรวมกี่ Kg นอกจากนั้น เราจะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้น้ำหนักของอุปกรณ์ทุกชิ้น ย้ำนะครับว่า ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ใหญ่ๆ แต่ชั่งน้ำหนักทุกชิ้น ตั้งแต่ เต็นท์ เป้แบ็คแพ็ค ถุงนอน … ไปจนถึง กางเกงใน ถุงเท้า พวงกุญแจ เรียกว่าอุปกรณ์ทุกย่างควรจะต้องถูกชั่งน้ำหนัก อย่าใช้การคาดเดา หรือกะเอา แต่ให้ชั่งจริงๆ
ให้พึงระลึกถึงเป้าหมายของการเดินทางเอาไว้ครับ ว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับการเดินเทรล คือ ความปลอดภัย และความสุข เนื่องจากการเดินเทรลอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น จาก ความหนาวเย็น ความหิว อาการเจ็บป่วย และการเดินควรจะเต็มไปด้วยความสุข ไม่ควรจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ทุกข์ระทม เพราะฉะนั้นอุปกรณ์อะไรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้ไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องเอาไป อย่าไปยึดติดกับการพยายามลดน้ำหนักมากเกินไปครับ เพราะคำว่า Ultralight มันเป็นแค่เกณฑ์อย่างหนึ่งที่มีคนคิดขึ้นมาเอาไว้อ้างอิงเท่านั้น อย่าไปยึดตามแบบไร้เหตุผล
เคล็ดวิชาที่สำคัญประการหนึ่งในความเป็น Ultralight คือ จงอย่าได้ใส่ของทุกอย่างที่นึกได้ลงในกระเป๋า แต่ละรายการอุปกรณ์ให้เราคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน ทั้งชั่งน้ำหนัก ทั้งพิจารณาความจำเป็นในการใช้งานในทุกรายการที่จะเอาใส่กระเป๋าไป ให้ถามตัวเองว่า ถ้าเราไม่เอาอุปกรณ์นี้ไปด้วย เราจะอยู่ได้ไหม มีทางเลือกอื่นที่เบากว่านี้ไหม มีอย่างอื่นที่ใช้แทนกันได้ไหม หรือมีอย่างอื่นที่ทำหน้าที่ได้หลายๆอย่างในตัวเดียว หรือไม่ เช่น สมอเต็นท์บางตัว สามารถใช้ได้ทั้งขึงเต็นท์ แล้วก็ใช้แทนพลั่วขุดหลุมสำหรับเข้าห้องน้ำได้ ในตัวเดียวกัน เมื่อมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แทนได้ไปแล้ว ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องพกพลั่วสนามที่มีน้ำหนักมากไปด้วย
โดยการคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ทุกรายการจะถูกชั่งน้ำหนัก นั่งคิดหาวิธีลดน้ำหนักลง แล้วก็ชั่งน้ำหนักใหม่ วนไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเราก็จะได้ข้อสรุปว่าเราจะเอามันใส่เป้ไปด้วยไหม จำไว้ว่า … ไม่มีคำว่า “เผื่อได้ใช้” ในพจนานุกรมของ นักเดินทาง Ultralight ครับ ทุกอย่างที่เอาไป มีเหตุมีผล ว่าทำไมเราถึงเอาไปด้วย
เราต้องรู้ความแตกต่างระหว่าง “สิ่งที่จำเป็นต้องเอาไป” กับ “สิ่งที่เราต้องการจะเอาไปด้วย” อะไรที่จำเป็นต้องเอาไป ก็เช่น อาหาร น้ำ อะไรก็ตามที่ให้เรานอนหลับได้ ให้ความอบอุ่น พวกเป้แบ็คแพ็ค ถุงนอน พวกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น
ยกตัวอย่าง ผมมีมีดสุดสวยอยู่อันนึง ลายมันสวยมาก ตีจากเหล็กชั้นยอดจากญี่ปุ่น น้ำหนักปานกลาง ผมชอบมาก อยากเอาไปใช้ด้วย … แต่ถ้าลองถามตัวเองดีๆแล้วก็จะพบกว่าทริปที่ผมไป เอาไปใช้แค่มีดพับสั้นๆ น้ำหนักเบา ราคาไม่กี่บาทก็เพียงพอแล้ว อย่างนี้เป็นต้นครับ การพิจารณาระหว่างสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่ต้องการก็ทำได้ง่ายๆ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาว่าสิ่งไหนจำเป็น ก็คือมันช่วยทำให้เรา อบอุ่น นอนได้สบาย กินอิ่ม และปลอดภัย หรือไม่
บางทีอุปกรณ์ที่น้ำหนักเบา อาจจะสามารถหามาได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหามาเลยก็ได้ครับ เช่น การใช้กระป๋องเบียร์มาเจาะเป็นช่อง ก็สามารถใช้ทำเป็นเตาแอลกอฮอล์ได้ โดยไม่ต้องซื้อเตาเลย หรือ การใช้ฟลอยอลูมิเนียมมาทำฉากกันลมแทน หรือการใช้ถุงดำมาทำเป็นถุงสำหรับใส่ของกันน้ำในเป้ เป็นต้น
เทคนิคหนึ่งที่นักเดินทางมืออาชีพมักจะใช้กันก็คือ การจัดทำตารางรายการอุปกรณ์ทั้งหมดที่มี (ย้ำว่าทั้งหมดนะครับ) ตั้งแต่ช้อนกินข้าว กางเกงใน ไปจนถึงกระดาษทิชชู่ พร้อมจัดหมวดหมู่ เช่น กลุ่มเครื่องนอน กลุ่มอาหารและเชื้อเพลิง กลุ่มเสื้อหนาว เป็นต้น โดยจะแบ่งตามหน้าที่การทำงานของอุปกรณ์ เพื่อไม่ให้เราเอาของที่มีหน้าที่เดียวกันไปโดยไม่จำเป็น แต่ละรายการต้องระบุน้ำหนักด้วย เพื่อให้เราสามารถตัดของที่ไม่จำเป็นออกไป ให้เราไปได้เบาที่สุด เปลืองแรงน้อยที่สุด สุดท้ายแล้วจะเหลือแต่ของที่จำเป็นต่อทริปนั้นจริงๆ
โดยแต่ละกลุ่มจะมีทำตาราง excel แสดงน้ำหนักรวม แล้วเราจะเห็นชัดเจนว่าอุปกรณ์ตัวไหนที่เป็นตัวทำให้เราหนักมากกว่าตัวอื่น เราจะได้วางกลยุทธ์ต่อไปว่าจะขายทิ้งแล้วซื้อตัวใหม่เบาๆมาแทนไหม
เทคนิคนี้จะมีประโยชน์มากในการปรับของใช้ที่จะเอาไป อุปกรณ์แต่ละอย่างจำเป็นสำหรับทริปนี้ไหม เราจะเห็นน้ำหนักรวมก่อนที่จะแพ็คกระเป๋าเสียด้วยซ้ำ บ่อยครั้งที่ผมเอาอุปกรณ์ยัดใส่กระเป๋าพร้อมเดินทางแล้ว แต่พอแบกขึ้นหลังกลับรู้สึกว่าหนักเกินไป สุดท้ายก็ต้องเอาออกมาจัดกันใหม่ กว่าจะจัดเป้เสร็จทีนึงเล่นเอาเหนื่อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะใครที่มีอุปกรณ์เยอะๆ นี่คงจะเจอปัญหาเหมือนผม คือ อันนี้ก็อยากเอาไปใช้ อันนู้นก็อยากติดไปด้วย
แนะนำว่าถ้าเป็นทริปที่ไปกันหลายคนก็ต้องจัดแบ่งหน่อยว่า ใครเอาอะไรไป ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน อย่างผมเวลาไปกับพอล พอลก็จะทำรายการมาให้เลย ว่าใครแบกอะไรไปบ้าง สิ่งที่ต้องใช้ในการทำก็ไม่มากมายอะไรครับ คือ คอมพิวเตอร์ที่มี excel และ เครื่องชั่งน้ำหนัก
ทางเลือกที่แนะนำในการจัดทำตารางอุปกรณ์
พูดง่ายๆ คือ หาเพื่อนไปด้วยครับ ด้วยหลักการง่ายๆ คือ มีหลายคนก็ช่วยกันแบกได้ ซึ่งจะทำให้น้ำหนักที่ต้องแบกลดลงได้มากทีเดียว อุปกรณ์ที่ใช้ด้วยกันได้ ตอนที่ทำตารางก็ให้มาร์คลงไปในตารางด้วยนะครับ ว่าอุปกรณ์ตัวไหนใช้ร่วมกัน พวกที่ใช้ร่วมกันได้ ก็เช่น เครื่องครัว เต็นท์ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล กล้อง ครีมกันแดด ยากันแมลง แผนที่ เข็มทิศ เครื่องกรองน้ำ ยาสีฟัน โดยอุปกรณ์ที่ใช้รวมกันได้ ก็ให้บันทึกน้ำหนักไว้แล้วจับหาร 2 ครับ
การเป็นนักเดินทางที่เน้นน้ำหนักเบาที่ดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตัดความคิดที่ว่า “แค่ไม่กี่กรัมเอง” ออกไป เพราะเมื่อไม่กี่กรัมนี้ มารวมกันหลายๆชิ้น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็จะมากพอที่จะทำให้เรารู้สึกหนักได้ครับ เช่น ถ้าเราตัดของหนัก 50 กรัม ออกไปได้ 10 อัน น้ำหนักก็จะหายไป ครึ่งกิโลเลยนะครับ
ถ้าจนแล้วจนรอด ทำทุกอย่างแล้วก็ยังรู้สึกว่า น้ำหนักมันยังมากอยู่ ก็มาถึงวิธีสุดท้าย … ก็คือการจัดหาอุปกรณ์ที่เบากว่าเดิม เพื่อทดแทนของเก่าครับ ตอนทีจะหาซื้ออุปกรณ์ใหม่ก็อย่าลืมพิจารณาน้ำหนักด้วย ข้อแนะนำของผมคือ ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยน ก็ให้ค่อยๆซื้อใหม่ไปเรื่อยๆ ทีละนิด เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนสถานะทางการเงินมากนัก แนะนำให้เริ่มเปลี่ยนจากอุปกรณ์ที่เปลี่ยนแล้วทำให้น้ำหนักโดยรวมเบาลงได้มากที่สุดก่อน
สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ ความเบามันมีมูลค่าของมันอยู่ครับ นอกจากราคาที่มักจะแพงกว่าอุปกรณ์ปกติแล้ว อุปกรณ์พวก Ultralight มักจะเลือกใช้วัสดุที่น้ำหนักเบา ซึ่งส่วนใหญ่ความแข็งแรงจะน้อยกว่าอุปกรณ์แบบดังเดิม เพราะฉะนั้น … ผู้ใช้จำเป็นที่จะต้องรู้จัก ดูแล ซ่อมแซม อุปกรณ์ของตัวเองด้วยนะครับ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นเป้แบ็คแพ็คตัวเก่าของผมนี่เวลาวางผมสามารถโยนลงพื้นได้สบายๆ แต่ถ้าเป็นเป้ Ultralight ผมก็ต้องถนอมมันมากกว่าหน่อย ค่อยๆ วางมันลงพื้นก็พอ
ที่ผมกล่าวไปแล้ว นั่นก็คือเคล็ดความหลักๆ ในการลดน้ำหนักสัมภาระลงครับ จริงๆ หนังสือที่อ่านมา เค้ามีเป็นหลายสิบข้อเลย แต่ว่าใจความหลักมันจะมีอยู่เท่าที่ผมนำมาเล่าให้ฟังกัน ก็จะเห็นว่า … นอกจากเครื่องชั่งน้ำหนักแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องซื้อหามาเพิ่มเลย เพราะ Ultralight ที่แท้นั้น เริ่มจากทัศนะคติ … ไม่ได้เริ่มจากเงินในกระเป๋าครับ ส่วนใครมีเงินในกระเป๋ามากหน่อย อยากให้เบาขึ้นอีก ก็ซื้อหาอุปกรณ์ที่เบาลงได้ อันนี้ก็สุดแล้วแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละท่าน
ขอบคุณที่ติดตามาอ่านจนจบครับ ส่วนใหญ่ของบทความนี้ผมได้วิชามาจากหนักสือ Ultralight Backpackin’ Tips ของ Mike Clelland ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือ Ultralight ที่ดีเล่มหนึ่งเลยครับ ใครสนใจลองไปหาอ่านกันได้ แล้วพบกับใหม่ตอนต่อไปครับ
พีท
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว