ในบทความเกี่ยวกับเต็นท์ตอนที่แล้ว เราได้พูดคุยกันถึงการเลือกเต็นท์ที่เหมาะสมกับการใช้งานโดยพิจารณาถึงประเภท (แบบ 3, 3+, และ 4 ฤดู) นอกจากนั้นเรายังแนะนำขนาดของเต็นท์ที่ใช้งานได้อย่างสบายมีที่สำหรับยืดแข้งยืดขา และไม่ใหญ่เกินไปจนทำให้เต็นท์หนักโดยใช่เหตุ เต็นท์ที่ดีนั้นต้องได้รับการออกแบบให้มีโครงสร้างแข็งแรง น้ำหนักเบา ทนต่อลม ฝน แดด หิมะได้เป็นอย่างดี ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้เต็นท์สักหลังทำหน้าที่อย่างที่ว่าได้คือผ้าที่นำมาตัดเย็บเต็นท์ต้องคุณสมบัติที่เหมาะสม ทนทานและกันน้ำได้ดี ในบทความนี้เราจะนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับวัสดุชนิดต่างๆที่ใช้ตัดเย็บเต็นท์ที่มีขายในท้องตลาด ความเข้าใจในวัสดุที่นำมาทำเต็นท์จะทำให้เราสามารถเลือกเต็นท์ที่ตอบโจทย์กับสภาพการใช้(งานได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
ผ้าที่นำมาตัดเย็บเต็นท์ประกอบด้วยสองส่วนคือส่วนทึบและส่วนที่เป็นตาข่ายหรือมุ้ง อย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนที่แล้วส่วนของเต็นท์ที่เป็นตาข่ายนั้นโดยปกติจะอยู่กับเต็นท์ภายในในหรือคาโนปี ผ้าแบบมุ้งแบบตาห่างจะระบายอากาศได้ดีและเหมาะกับอากาศร้อนของเมืองไทยมากกว่าผ้าแบบที่ตาชิดๆ ถ้าให้เราแนะนำก็เอาที่แบบใหญ่สุดที่ยุงและแมลงอื่นๆบินเข้ามาไม่ได้ครับ เช่น ช่องกว้างเท่ากับ 1.5 ถึง 1.7 มิลลิเมตร ก็น่าจะโอเคครับ ผ้ามุ้งอาจจะใช้วัสดุเดียวกับส่วนทึบของเต็นท์ก็ได้นะครับแต่จะสานด้ายให้เป็นตาช่องข่ายแทน (โดยเฉพาะเต็นท์พวก ultra lightweight ที่ออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบามากๆ ผ้าทั้งส่วนมุ้งและส่วนทึบเลยต้องเป็นวัสดุเบามากทั้งคู่)
ความแตกต่างของผ้า 10D ไนลอน (สีฟ้า) ผ้า 300D (สีเขียว) และ ผ้า 10 D ไมโครเมช(สีน้ำเงิน)
แต่จะว่าไปแล้วผ้าส่วนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเต็นท์มากที่สุดก็จะเป็นส่วนทึบครับ เพราะเป็นส่วนพื้นเต็นท์และผ้าคลุมด้านบนซึ่งเป็นส่วนที่ป้องกันเราจากลมและฝนจริงๆ คุณสมบัติหลักที่ผ้าส่วนทึบต้องมีคือ กันน้ำได้ดี เบา มีความยืดหยุ่นพับได้ ทนการดึงการฉีกขาดได้ ไม่เสื่อมสภาพจากแสงแดด น้ำและอุณหภูมิเร็วเกินไปนัก วัสดุที่เข้าเกณฑ์หาได้ง่ายและราคาไม่แพงนักก็มี 2 ชนิดคือ1) ไนลอน และ 2) โพลีเอสเตอร์ แม้จะทำงานได้ดีทั้งคู่แต่ถ้าจะเอามาเปรียบกันตัวต่อตัวแล้วจะพบว่าโพลีเอสเตอร์จะทนทานและยืดตัวเมื่อถูกดึงน้อยกว่าไนลอน (เช่น เต็นท์ที่เป็นผ้าไนลอนนั้นเมื่อกางและขึงเชือกตึงแล้วใช้งานสักพักผ้าอาจจะยืดออกเล็กน้อยทำให้ตัวเต็นท์ดูหย่อนลง เราเลยต้องปรับความตึงของเต็นท์อยู่เรื่อยๆ ครับ) นอกจากนั้นโพลีเอสเตอร์ยังเสื่อมสภาพจากแดดน้อยกว่าและกันน้ำได้ดีกว่าไนลอน แต่ที่เล่าไปไม่ได้หมายความว่าไนลอนหาส่วนดีไม่ได้เลยนะครับ ข้อดีที่สำคัญมากของไนลอนคือน้ำหนักเบากว่าโพลีเอสเตอร์มาก และจะพริ้วตัวกว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตสามารถเคลือบไนลอนด้วยสารเคมีทำให้มีคุณสมบัติที่ไม่แตกต่างหรือดีกว่าโพลีเอสเตอร์ได้เสียอีก
สเป็กของผ้าเต็นท์ (ไม่ว่าจะเป็นไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์) จะมีเลขกำกับอยู่ 2 ตัว ตัวนึงจะตามหลังด้วยอักษร D (denier) เช่น 20D ตัว D เป็นหน่วยวัดความหนาหรือน้ำหนักของด้ายต่อหน่วยความยาวที่นำมาทอเป็นผ้า ยิ่งเลขหน้า D มากผ้าจะมีความหนาทนทานและทนต่อการฉีกขาดได้ดี เลขอีกตัวหนึ่งจะตามด้วยอักษร T (thread per inch) เช่น 210T เลขตัว T นั้นใช้นับจำนวนเส้นใยหรือด้ายในหนึ่งพื้นที่ตารางนิ้ว เลขนี้ยิ่งเยอะจะถือว่าผ้าทอมีเส้นใยชิดแน่น สรุปง่ายๆคือถ้าตัวเลขกำกับทั้งสองเยอะผ้าจะทนทาน ไม่ยืดมากเมื่อถูกดึงแต่จะหนัก เมื่อผ้าหนักน้ำหนักรวมของเต็นท์ก็เพิ่มขึ้นด้วยครับ
โดยปกติพื้นเต็นท์ต้องเจอน้ำหนักของตัวเรากดลงไปกับสภาพพื้นหลายแบบตั้งแต่เรียบจนถึงขรุขระจากก้อนหินหรือไม่ก็รากไม้ เพราะฉะนั้นส่วนพื้นต้องแข็งแรงและทนการฉีกขาดได้เป็นอย่างดีครับ แนวทางออกแบบพื้นเต็นท์จะมีอยู่สองวิธี 1) ใช้ผ้าที่แข็งแรงขึ้นสำหรับเป็นส่วนพื้น เข่นผ้า 60D หรือ 330T เป็นต้น ดีไซน์แบบนี้จะหนักกว่าเล็กน้อย 2) ใช้ผ้าบางเหมือนกับส่วนบนของเต็นท์ (สำหรับเต็นท์พวก ultra lightweight) และใช้แผ่นปูพื้น (ground sheet) รองก่อนเพื่อยืดอายุการใช้งานของเต็นท์ครับ ถ้าเอาเต็นท์แบบนี้ไปใช้ที่พื้นเรียบๆอาจไม่ต้องใช้ผ้าปูรองพื้นก็ได้จะได้เบาลงจะว่าไปแล้วผ้าปูรองพื้นควรจะใช้เต็นท์ทุกแบบอยู่แล้วนะครับเพราะจะทำให้เต็นท์เสื่อมสภาพจากการใช้งานช้าลง แต่อย่าลืมว่าจะทำให้น้ำหนักรวมของเต็นท์เพิ่มขึ้นเช่นกัน หากท่านผู้อ่านชอบขับรถไปตั้งแคมป์ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไรที่ต้องนึกถึง แต่ถ้าเป็นนักเดินป่าที่ต้องแบกสัมภาระเองทั้งทาง ไปแต่ละที 5 วัน 7 วัน ก็อาจจะพิจารณาน้ำหนักให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกใช้เต็นท์หลังไหนนะครับ
ผ้าเต็นท์ที่ดีต้องได้รับการเคลือบกันน้ำนะครับ คือเมื่อเคลือบแล้วเวลาโดนน้ำผ้าจะ 1) ไม่ดูดซับน้ำไว้ 2) ไม่ยอมให้น้ำผ่านได้ถ้าแรงดันน้ำยังไม่เกินค่าที่ออกแบบไว้ (หน่วยวัดที่ใช้ทั่วๆไปเป็น มิลลิเมตร ดูในบทความของร้านพีทแอนด์พอลเรื่องเต็นท์กันน้ำได้มากน้อยแค่ไหนดูอย่างไร) 3) ทำให้น้ำรวมตัวกันเป็นหยด และไหลออกจากผ้าเต็นท์ได้ง่าย (นึกถึงน้ำกลิ้งบนใบบอน แบบนั้นเลยครับ) นอกจากนั้นการเคลือบจะทำให้ผ้าเต็นท์ทนทานและรับแรงดึงได้ดีขึ้น และยืดตัวน้อยลงอีกอีกด้วย สำหรับเต็นท์ทั่วไปวัสดุที่นำมาเคลือบนั้นจะเป็นโพลียูรีเทน (polyurethane หรือเขียนสั้นๆว่า PU) ผ้าที่เคลือบ PU นั้นหาได้ทั่วไป เต็นท์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าชนิดนี้จะราคาไม่สูงมากๆ (ภาษาอังกฤษจะเรียก entry-level tent ครับ) ที่จริงแล้วเคลือบ PU ก็ใช้งานทั่วๆไปโอเค แต่จากประสบการณ์เค้าพบกันว่าเมื่อเวลาผ่านไป เช่น 4-5 ปี เคลือบ PU จะเริ่มเสื่อมสภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปฏิกิริยาเคมีกับน้ำ (ศัพท์เทคนิค คือ hydrolysis) ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัสดุประเภทนี้ อีกอย่างหนึ่งตอนเคลือบ PU ต้องทำที่อุณหภูมิสูงทำให้ผ้าใยสังเคาะห์ไม่ว่าจะเป็นไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์เสื่อมสภาพลงระดับหนึ่งจากกระบวนการผลิตนี้ เราสามารถเพิ่มอายุการใช้งานของเคลือบ PU โดยการผสมโพลีอีเธอร์ (polyether) เข้าไป เคลือบชนิดนีทำให้วัตถุดิบที่นำมาตัดเย็บเต็นท์มีราคาสูงขึ้นนิดหน่อย
ผ้าไนลอนแบบป้องกันการขาดรูด เคลือบกันน้ำทำให้ไม่ดูดซับน้ำ ทำให้น้ำกลายเป็นหยดและไหลออกจากผ้าได้ง่าย
การเคลือบกันน้ำอีกชนิดหนึ่งที่ผู้ผลิตเต็นท์นิยมใช้คือเคลือบซิลิโคน (silicone elastomer) ปกติจะใช้เคลือบผ้าไนลอน (คำเรียกเฉพาะคือ SilNylon) การเคลือบพวกนี้จะเพิ่มกำลังรับแรงดึงของผ้าไนลอนและจะกันน้ำได้ดีมาก ผ้าเคลือบแบบนี้จะสัมผัสลื่นกว่า PU ดังนั้นข้อดีคือน้ำบนผิวผ้าจะจับเป็นหยดและไหลออกไปจากแผ่นได้ง่ายโดยไม่ซึมเข้าไปในแผ่นเสียก่อน อีกอย่างหนึ่งคือถ้าใช้เดินทางไปที่ๆมีหิมะตกหิมะที่ตกทับบนเต็นท์จะเลื่อนหลุดออกมาได้ง่าย ซิลิโคนนั้นเคลือบที่อุณหภูมิปกติเพราะฉะนั้นผ้าจะไม่เสื่อมสภาพจากความร้อนเหมือนกรณีของ PU อย่างที่บอกนะครับเนื่องจากผ้าไนลอนที่เคลือบด้วยซิลิโคนนั้นลื่นมาก เพราะฉะนั้นจะเกิดปัญหาอย่างหนึ่งตามมาคือตามรอยตะเข็บผ้าจะไม่สามารถซีลกันน้ำได้ดีเพราะเทปกันน้ำที่ใช้กันตามตะเข็บแบบนี้จะติดไม่อยู่ ผู้ผลิตบางราย (เช่น MSR) เลยใช้วิธีเคลือบซิลิโคนบนผ้าไนลอนไว้ที่ผิวด้านนอกและเคลือบ PU ที่ผิวด้านใน เนื่องจาก PU ไม่ลื่นมากจึงทำให้ติดเทปกันน้ำบริเวณตะเข็บผ้าด้านในได้ แต่อาจจะต้องแลกกับผ้าที่เสื่อมสภาพลงเล็กน้อย จนมาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านอาจคิดว่าโลกนี้ช่างไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบซะเลย ขาดนู่นขาดนี่ตลอด ซึ่งก็เห็นจะจริงอยู่นะครับโดยเฉพาะกับกรณีของผ้าเต็นท์นี่แหล่ะ ได้อย่างจะเสียอีกอย่างเสมอไม่ว่าจะใช้แบบแพงแค่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นเราก็เลือกเอาที่สภาพการใช้งาน น้ำหนักแล้วก็ราคาที่เหมาะกับตัวเราที่สุดแล้วกันนะครับ
ผ้าไนลอนเคลือบซิลิโคนจะมีความลื่นทำให้หิมะไม่จับและไหลออกจากเต็นท์ได้ง่าย
ผ้าไนลอนบางชนิดจะถูกออกแบบมาให้กันการฉีกขาดได้ดีขึ้น คือถ้าเกิดรอยขาดขึ้นแล้วจะไม่ฉีกรูดไปเรื่อยๆเมื่อถูกดึง (rip-stop fabric) สังเกตุได้ง่ายๆคือในเนื้อผ้าจะเสริมด้ายให้หนาขึ้นเป็นช่วงๆทั้งสองแนวแกน เราเลยจะเห็นเป็นช่องๆ เหมือนตาข่ายถี่ๆอยู่บนเนื้อผ้า เต็นท์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าชนิดนี้ก็จะมีความทนทานสูงขึ้น ปกติเต็นท์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไนลอนเคลือบซิลิโคนจะมีราคาสูงกว่าเต็นท์ทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์เคลือบ PU ไม่ว่าจะเคลือบด้วยอะไรก็แล้วแต่ทางร้านเราแนะนำให้เลือกเต็นท์ผู้ผลิตรับประกันว่ากันน้ำมากกว่า 3000 มม ขึ้นไปสำหรับการใช้งานในเมืองไทยนะครับ ในส่วนนี้ต้องซีเรียสนิดนึงครับเพราะจะว่าไปแล้วบ้านเราฝนตกเยอะเอาการนะครับ มาถึงตอนนี้ผู้อ่านน่าจะเข้าใจสเป็กของผ้าเต้นท์ดีระดับหนึ่งแล้ว ผมยกตัวอย่างนะครับ ถ้าเราไปร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์แล้วเต็นท์ที่เราดูมีอธิบายเกี่ยวกับวัสดุว่า
“20D x 330T rip-stop nylon 1200mm Durashield™ polyurethane & silicone”
อย่างนี้ก็บอกได้เลยครับว่า เต็นท์หลังนี้ทำจากผ้าไนลอนแบบป้องกันการขาดรูด เป็นผ้า 20 D ทอถี่ 330 เส้นใยต่อทิศทางในหนึ่งตารางนิ้ว เคลือบกันน้ำยี่ห้อ Durashield เคลือบซิลิโคนด้านนอกและ PU ด้านใน กันน้ำได้ 1200 มิลลิเมตร ครับ เห็นมั้ยครับ ง่ายนิดเดียว
วัสดุอีกชนิดหนึ่งที่นำมาทำเต็นท์คือผ้าคิวเบน (cuben fiber) ผ้าชนิดนี้เป็นวัสดุสมรรถนะสูง ทนแรงดึงกว่าไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์หลายสิบเท่า มีน้ำหนักเบาและกันแสง UV ได้อย่างยอดเยี่ยม (ไม่เสื่อมสภาพจาก UV) ผ้าชนิดนี้ถือเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสุดที่ใช้กันในวงการอุปกรณ์เอาต์ดอร์ ผ้าคิวเบนมีชื่อทางเทคนิคว่า non-woven dyneema (NWD) เป็นผ้าที่ยืดตัวน้อยมาก เต็นท์ที่ทำจากผ้าชนิดนี้จะไม่หย่อนแม้จะรับแรงดึงนาน (ไม่เหมือนไนลอน) เลยไม่ต้องมาดึงเชือกใหม่ให้เต็นท์ตึงอยู่เรื่อยๆนะครับ หากไม่รวมน้ำหนักโครง เต็นท์ผ้าคิวเบนเบากว่าไนลอนเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่ขนาดเท่ากัน ยกตัวอย่าง เต็นท์นอนสามคนของ Tarptent ซึ่งมีขนาดกว้างขวาง ทำจากผ้าคิวเบนหนักเพียงแค่ 700 กรัมเท่านั้น (ราคาที่ประเทศสหรํฐอเมริกาขายอยู่ประมาณ 24,000 บาท เมื่อคิดเป็นเงินไทย)
ผ้าคิวเบนมีความแข็งแรงทนทาน ทนต่อการเสื่อมสภาพจากรังสี UV ได้ดี ตัวผ้าจะโปร่งแสงสามารถมองทะลุรางๆได้
อย่างไรก็ตามผ้ามีชนิดนี้ราคาแพงมากเต็นท์ที่ตัดเย็บจากผ้าคิวเบนจึงราคาสูงและถือเป็นของระดับไฮเอนด์ในวงการ ลักษณะไม่เหมือนใครอย่างหนึ่งคือผ้าชนิดนี้คือโปร่งแสง คือมองทะลุได้บ้าง เช่นนอนกลางคืนอาจจะเห็นพระจันทร์หรือดาวรางๆได้ แบบนี้บางคนอาจจะไม่ชอบเลยเพราะถือความเป็นส่วนตัวลดลงนั่นคือคนอื่นมองเข้ามาแล้วเห็นกิจกรรมต่างๆของเราภายในของเต็นท์ได้ ถ้าไม่ติดว่าราคาแพงมากและโปร่งแสงผ้าคิวเบนน่าจะมีข้อด้อยอยู่ประการเดียวคือทนความร้อนได้ต่ำ เพราะฉะนั้นเวลาจุดไฟทำอาหารหรือสำหรับผิงใกล้ๆเต็นท์หรือบริเวณ vestibule ของเต็นท์จะต้องระวังให้มากๆนะครับ ไม่งั้นผ้าเต็นท์อาจจะหยิกงอเสียรูปจากความร้อนได้ มีของแพงขนาดนี้ต้องทะนุถนอมให้ดีนะๆครับ
ลักษณะภายนอกของเต็นท์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าคิวเบน
ในบทความนี้ร้านพีทแอนด์พอลได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ทำเต็นท์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด อ่านบทความเกี่ยวกับเต็นท์ตอนที่ 2 นี้จบ เราเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับเต็นท์ดีในระดับนึงแล้วนะครับ ท่านน่าจะเลือกซื้อเต้นท์ได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นใจโดยอิงตามหลักการและความรู้ที่ถูกต้อง จะได้เต็นท์ที่เหมาะกับสภาพการใช้งานที่คาดหมายไว้ และด้วยราคาเหมาะสม คุ้มค่ากับการลงทุน
ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมา พบกันในบทความหน้าหรือไม่ก็บน trail ครับ
พอล
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว