Hypothermia เป็นภาวะที่ร่างกายของนักเดินทางสูญเสียความร้อน (Body heat loss) จากอุณหภูมิภายนอกที่เย็นจัดจนทำให้อุณหภูมิภายในของร่างกาย (Body หรือ core temperature) ตกลงจนต่ำกว่าระดับสมดุลปกติ อาการนี้นับเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของนักเดินป่าและปีนเขาในภูมิอากาศเย็น ยกตัวอย่างเช่น ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป 85% ของผู้เสียชีวิตระหว่างทำกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหมดเกิดจากภาวะอุณหภูมิร่างกาย ต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดจะประกอบด้วย
อาการ Hypothermia เป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใดแต่เป็นผลจากอุณภูมิภายในของร่างกายที่ลดต่ำลง อย่างช้าๆ เช่น นักเดินป่าในสภาพอากาศเย็นจัด พายุหิมะหรือฝนกระหน่ำ หรือตกน้ำ ร่างกายและเสื้อผ้าเปียกเป็นเวลานานมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับอันตรายจาก ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ เมื่อร่างกายสูญเสียความร้อนมากเกินไป การตอบสนองร่างกายจะลดน้อยลง อวัยวะต่างๆเริ่มทำงานผิดปกติ หากอาการรุนแรงมากและไม่รับการแก้ไขจะทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด เราสามารถป้องกันอาการดังกล่าวได้โดยรักษาสมดุลความร้อนภายในของร่างกายไว้ ดังนั้นนักเดินทางจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจกลไกพลังงานและความร้อนของร่างกายในภาวะอากาศเย็น ซึ่งสรุปในเบื้องต้นได้ดังนี้
การสูญเสียความร้อนของร่างกาย เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิภายนอกต่ำกว่าอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งหากแตกต่างกันมากการสูญเสียความร้อนจากร่างกายก็จะเกิดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การสูญเสียความร้อนของร่างกายเกิดขึ้นได้หลายวิธี กล่าวคือ
การแผ่ (Radiation) เป็นการสูญเสียความร้อนของร่างกายที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและมีปริมาณมากสุด เมื่อร่างกายมีการเผาผลาญพลังงาน จะเกิดความร้อนในร่างกายขึ้น ความร้อนดังกล่าวจะถ่ายเทออกจากร่างกายในรูปของคลื่นความร้อนผ่านทางผิวหนัง ศรีษะเป็นส่วนของร่างกายที่มีเส้นเลือดจำนวนมากเพื่อไปเลี้ยงสมอง หากไม่มีการป้องอะไรเลยจะเป็นส่วนที่สูญเสียความร้อนจากร่างกายมากที่สุด เช่น 50 % ของปริมาณการสูญเสียความร้อนทั้งหมดที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และ 75 % ที่ -15 องศาเซลเซียส การใส่เสื้อผ้า หมวกอุ่นๆ หรืออยู่ในที่กำบัง (Shelter) เช่น ถุงนอน เต้นท์ สามารถช่วยลดการเสียความร้อนจากการแผ่ได้
การนำ (Conduction) เป็นการถ่ายเทความร้อนจากร่างกายผ่านการสัมผัสกับวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า เช่น นั่งหรือนอนบนพื้นดินหรือหิน การตกไปในน้ำเย็นจัดนั้นก็เป็นสูญเสียความร้อนแบบการนำที่เกิดได้ฉับพลันรวด เร็วมาก และถือว่าเป็นปัจจัยอันตรายระดับต้นๆ สำหรับภาวะ Hypothermia ซึ่งควรจะได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขโดยเร็วที่สุด
ตัวอย่างการถ่ายเทความร้อนด้วยการนำ จากการตกลงไปในแม่น้ำ
การพา (Convection) เกิดจากอากาศไหลหรือลมพัดผ่านร่างกาย การพาความร้อนจะเกิดในปริมาณน้อยหากลมไม่พัด อย่างไรก็ตามเมื่อลมพัดด้วยความเร็ว เช่น ระหว่างพายุหิมะ อัตราการสูญเสียความร้อนจากร่างกายจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตารางที่ 1 แสดงการลดลงของอุณหภูมิที่เรารู้สึกเมื่อเกิดลมพัดเทียบกับอุณหภูมิในขณะที่ลมสงบ ตารางยังแสดงความเสี่ยงต่อการเกิด อาการน้ำแข็งกัด (Frostbite) หากไม่มีเสื้อผ้าปกปิดส่วนต่างๆของร่างกาย
ตัวอย่างการถ่ายเทความร้อนด้วยการพา จากลมพายุที่พัดผ่านร่างกาย
ตารางที่ 1 แสดงการลดลงของอุณหภูมิที่เรารู้สึกตามความเร็วลมเทียบกับอุณหภูมิในขณะลมสงบ
การระเหย (Evaporation) โดยปกติการระเหยของเหงื่อหรือความชื้นบนผิวหนังเป็นกระบวนการตอบสนองทาง ธรรมชาติที่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายต่ำลงในสภาพอากาศร้อน อย่างไรก็ตามหากเหงื่อออกมากจนทำให้เสื้อผ้าเปียกในที่อากาศเย็นจัดการระเหย ของเหงื่อจากผิวหนังและเสื้อผ้าจะดึงความร้อนออกจากร่างกาย และเป็นส่วนเร่งให้เกิดเสียสมดุลความร้อนและเกิดอาการภาวะอุณหภูมิร่างกาย ต่ำกว่าปกติขึ้นได้
การกักเก็บความร้อน (Body heat retention) ร่างกายของคนเรานั้นเก็บกักความร้อนบางส่วนได้ด้วยตัวเองขึ้นอยู่กับขนาดและ รูปร่างของร่างกาย การเก็บความร้อนลักษณะนี้เกิดจากปัจจัยภายในของร่างกายเอง ชั้นไขมันนั้นที่จริงแล้วเป็นฉนวนกันการสูญเสียความร้อนที่ไม่ดี แต่เนื่องจากชั้นไขมันนั้นมีระบบเส้นเลือดอยู่น้อยจึงทำให้เกิดการสูญเสียความร้อนได้ไม่มากเท่ากล้ามเนื้อซึ่งมีเส้นเลือดเยอะกว่า วิธีการเก็บความร้อนของร่างกายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการใส่เสื้อผ้า ที่เหมาะสม โดยควรสวมเป็นชั้นๆ โดยแต่ละชั้นทำหน้าที่ในลักษณะที่ต่างกัน (Layering principle)
ตัวอย่าง การใส่เสื้อผ้าหลายๆชั้นเพื่อรักษาความร้อนในร่างกาย
การสร้างความร้อนภายในร่างกาย (Body heat production) เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ร่างกายของเรามีการเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงาน (Metabolic process) อยู่ตลอดเวลา พลังงานดังกล่าวใช้ในการเคลื่อนที่ สร้างกล้ามเนื้อและทำให้อวัยวะต่างๆทำงานเป็นปกติ การเผาผลาญเกิดจากกระบวนการทางเคมีที่ร่างกายของเราสร้างขึ้นเพื่อย่อยสลายโมเลกุลของอาหารให้อยู่ในรูปที่เซลล์ต่างๆในร่างกายนำไปใช้งานได้ การเผาผลาญมีทั้งแบบทันทีจากอาหารที่กินเข้าไปหรือจากพลังงานสะสมในส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อรอการเผาผลาญภายหลัง การเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงานจะทำให้เกิดความร้อนในร่างกายและจะเกิดขึ้นในอัตราที่สูงถ้าเราทำกิจกรรมมากๆและหนัก เช่น วิ่งหรือปีนเขา ปริมาณความร้อนที่ร่างกายสร้างยังขึ้นอยู่กับชนิดของพลังงานที่ถูกเผาผลาญ ซึ่งนั่นก็คือสารอาหารชนิดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น น้ำตาลนั้นเผาผลาญได้ง่ายและไวดังนั้นจะให้พลังงานในช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับกิ่งไม้เล็กๆในกองไฟที่เผาไหม้ในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่คาร์โบไฮเดรตหรือแป้งมีโครงสร้างโมเลกุลสลับซับซ้อนมากกว่าดังนั้น จะเผาผลาญช้าแต่ให้พลังงานและให้ความร้อนนานขึ้น เปรียบคือท่อนไม้ฟืนที่มีขนาดใหญ่ ไขมันและโปรตีนนั้นใช้เวลาเผาผลาญมากและให้พลังงานความร้อนยาวนานที่สุด เปรียบเหมือนท่อนซุงใหญ่ที่ใช้เวลานานมากกว่าจะเผาไหม้หมด
เมื่อใดก็ตามที่ปริมาณการสูญเสียความร้อนมากกว่าการสร้างและการกักเก็บ ความร้อนของร่างกายจนเกินไป อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายก็จะลดต่ำลงจนเกิดเป็นภาวะ Hypothermia ขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับความเย็นมากๆนั้น ร่างกายของเราพยายามจะเก็บความร้อนไว้ที่แกนเพื่อรักษาอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ตับ ให้ทำงานอยู่ได้นานที่สุด เส้นเลือดบริเวณร่างกายส่วนปลาย คือ นิ้ว แขนและขา จะถูกบีบให้เล็กลงเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณนั้นได้น้อยซึ่งจะทำให้ สูญเสียความร้อนลดลง กระบวนการนี้จะทำให้ร่างกายส่วนปลายเริ่มไม่ทำงานและแข็งเกร็งควบคุมไม่ได้ การที่ของเหลวหรือเลือดถูกดึงมาเก็บในบริเวณแกนกลางมากขึ้นจะทำให้ร่างกาย ขับปัสสาวะและจะทำให้สูญเสียน้ำในปริมาณที่มาก (Dehydration) และจากนี้จะพัฒนาไปสู่อาการรุนแรงมากขึ้น อาการ Hypothermia นั้นสามารถจัดระดับเป็นปานกลาง (Mild) และหนัก (Severe) ซึ่งมีรายละเอียดตามที่จะได้กล่าวในตอนต่อไป
สินค้าของคุณถูกเพิ่มเข้าตะกร้าแล้ว